กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนพฤษภาคม 2558 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศ จำนวน 4,523 ราย ลดลง 41 ราย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนพฤษภาคม 2558 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศ จำนวน 4,523 ราย ลดลง 41 ราย คิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมีจำนวน 4,564 ราย และลดลง 60 ราย คิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีจำนวน 4,583 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคม 2558 มีจำนวน 977 ราย
มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในพฤษภาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 17,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จำนวน2,710 ล้านบาท คิดเป็น 18% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมีจำนวน 14,822 ล้านบาท และลดลงจำนวน 2,751 ล้านบาท คิดเป็น 14% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีจำนวน 20,283 ล้านบาท
ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 486 รายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 268 ราย ธุรกิจขายส่งเครื่องจักร 110 ราย ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร จำนวน 109 ราย และธุรกิจผลิตไฟฟ้า จำนวน 85 ราย
ปัจจุบัน ณ วันที่ 31พฤษภาคม 2558 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 613,509 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 15.67 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 430,659 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,097 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 181,753 ราย
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนพฤษภาคม2558 มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 คิดเป็น 1% อาจเป็นผลมาจากการจดทะเบียนธุรกิจค้าสลากในเดือนนี้มีเพียง 10 ราย ลดลงจำนวน 59 รายเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 คิดเป็น 86% ประกอบกับในเดือนพฤษภาคม 2558 มีวันหยุดราชการมากทำให้จำนวนวันทำการน้อยกว่าเดือนอื่นๆ
และจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ระดับ 45.2 ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา (มี.ค.58) ที่ระดับ 52.4 ตามความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทั้งด้านการผลิตและผลประกอบการที่ปรับตัวลดลง
แต่ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอีก 3 เดือนข้างหน้า มีค่าสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 54.4 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในด้านต่างๆ ได้แก่การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ภาคครัวเรือนชะลอการบริโภค และการส่งออก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลต่อการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทโดยรวม
สำหรับเรื่องที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดข้ามเขตจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2557 นั้น โดยในเดือนพฤษภาคม 2558 มีการยื่นขอจดทะเบียนข้ามเขต จำนวน 687 ราย จากการจดทะเบียนทั่วประเทศ จำนวน 4,523 ราย หรือคิดเป็น 15% โดยแบ่งออกเป็น
- ส่วนกลาง 481 ราย คิดเป็น 11% โดยสำนักงานในส่วนกลางที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด คือ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนามบินน้ำ) จำนวน 99 ราย รองลงมา สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 3 (รัชดาภิเษก) จำนวน 88 ราย และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 5 (บางนา) จำนวน 69 ราย
- ส่วนภูมิภาค 206 ราย คิดเป็น 4% โดยสำนักงานในส่วนภูมิภาคที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด คือ สพค.จังหวัดชลบุรี จำนวน 25 ราย รองลงมา สพค.ปทุมธานี จำนวน 23 ราย และ สพค.จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 9 ราย
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้เปิดให้บริการโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของนิติบุคคลโดยสามารถค้นหาจากรายชื่อหรือเลขทะเบียนของนิติบุคคล รวมทั้งข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆ และสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านมือถือ (Application : DBD e-Service) โดยระบบจะแสดงผลเป็นภาษาไทย ซึ่งสามารถใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการ IOS และ Android โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 463,671 ครั้งโดยในเดือนพฤษภาคม 2558 มีการเข้าใช้ระบบนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 43,585 ครั้ง คิดเป็น 10%
อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังคงส่งเสริมให้มีการใช้ e-Commerce เพื่อประกอบธุรกิจและขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมได้ออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการ
ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 11,835 ราย 13,488 เว็บไซด์ ประกอบด้วยนิติบุคคล 3,191 ราย คิดเป็น 27% บุคคลธรรมดา 8,644 ราย คิดเป็น 73% โดยธุรกิจที่ขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จำนวน 2,427 เว็บไซด์ คิดเป็น 18% ธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ จำนวน 2,170 เว็บไซด์ คิดเป็น 16% และธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 1,495 เว็บไซด์ คิดเป็น 11% ตามลำดับ