ภาคธุรกิจ ทำใจกำลังซื้อในประเทศไม่ฟื้นตัวแน่ วางนโยบายทำธุรกิจแบบประคองตัว “สหพัฒน์” ลุ้นปลายปีจะดีขึ้น แบงก์กรุงเทพ เน้นสินเชื่อกับลูกค้าที่ผลิตตามคำซื้อ ด้าน“บัณฑิต”ชี้ครึ่งปีหลัง ศก.ไทยยังมีแรงกดหลายเรื่อง โดยเฉพาะการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ซ้ำผลจากธปท.ลดดอกเบี้ย ยังช่วยส่งออ..
ภาคธุรกิจ ทำใจกำลังซื้อในประเทศไม่ฟื้นตัวแน่ วางนโยบายทำธุรกิจแบบประคองตัว “สหพัฒน์” ลุ้นปลายปีจะดีขึ้น แบงก์กรุงเทพ เน้นสินเชื่อกับลูกค้าที่ผลิตตามคำซื้อ ด้าน“บัณฑิต”ชี้ครึ่งปีหลัง ศก.ไทยยังมีแรงกดหลายเรื่อง โดยเฉพาะการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ซ้ำผลจากธปท.ลดดอกเบี้ย ยังช่วยส่งออกชัดเจน
นายบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล กล่าวว่า ปี2558 บริษัทจะดำเนินธุรกิจแบบประคองตัว เนื่องจากมีปัจจัยที่กระทบกำลังซื้อหลายเรื่อง โดยเฉพาะรายได้เกษตรตกจากราคาข้าวที่ลดลง ซึ่งคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่เกิน 3% แต่คาดว่ากำลังซื้อผู้บริโภคจะดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี หากไม่มีปัจจัยลบที่เกินความคาดหมายเข้ามากระทบ ซึ่งคาดว่าปีนี้ยอดขายของเครือสหพัฒน์จะโตประมาณ 5% จากยอดขายรวมปีก่อนอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท
สำหรับความเชื่อมั่นการทำงานของรัฐบาล ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าธุรกิจจะยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ภาคเอกชนมีความเข้าใจ เพราะจะให้รัฐบาลทำงานถูกใจทุกคนเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนควรต้องปรับปรุงการทำงานที่จะต้องพัฒนาขยายตลาดไปยังตลาดใหม่ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้มากขึ้น
ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังได้รับผลจากกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวต่อเนื่องมาจากปีก่อน ขณะที่การส่งออกคงยากที่จะขยายตัวได้ เนื่องจากประเทศคู่ค้ายังคงมีปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ดังนั้น การเบิกจ่ายของภาครัฐจะเป็นเครื่องมือเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย ส่วนเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารปีนี้คาดว่าจะโต 3-5 %โดยธนาคารยังเน้นการช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการสภาพคล่องเพื่อผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อ
ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีแรงกดดันที่ต้องจับตามอง คือ ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นว่าจะฟื้นตัวได้หรือไม่ ซึ่งไอโอดีได้ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง หลายประเทศจะปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลดีต่อการส่งออกและภาพเศรษฐกิจไทย
“ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวดี ก็มีแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ซึ่งหากสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน”นายบัณฑิต กล่าว
ทั้งนี้ ยังต้องจับตาการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ รวมไปถึงการลงทุนของภาครัฐที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน แม้ว่าที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินจะลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังมองว่าการส่งผลต่อเศรษฐกิจยังไม่เกิดขึ้นทันทีคงยังต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักจึงจะเห็นว่าได้ผลหรือไม่
“การลดดอกเบี้ยแม้จะช่วยส่งผลต่อต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการลดลง แต่ผลที่เกิดค่าเงินบาทยังไม่มากเท่าที่ต้องการ ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบติดต่อกัน 4 เดือนนั้น เป็นความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวลง และหากอัตราเงินเฟ้อยังติดลบต่อเนื่อง จะส่งผลให้ความยากลำบากในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีมากขึ้น”
นายบัณฑิต กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0-0.25% นั้น คาดว่าจะส่งผลดีต่อไทยมากกว่าผลเสีย เนื่องจากจะไม่เป็นแรงกดดันให้ไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามในภาวะที่เศรษฐกิจต้องการอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายต่อการกระตุ้นของเศรษฐกิจ ประกอบกับยังไม่ส่งผลให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าสหรัฐด้วย
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า ผลการประชุม FOMC ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมคือ 0-0.25% เป็นไปตามที่ตลาดส่วนใหญ่ได้คาดการณ์ไว้ และเนื้อหาของถ้อยแถลงไม่ต่างจากการประชุมในเดือนเมษายนที่ผ่านมามากนัก โดยประธานธนาคารกลางสหรัฐยังคงแสดงมุมมองของนโยบายการเงินในทิศทางที่ผ่อนคลาย โดยระบุว่าช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจหลายด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ และเห็นว่าตลาดให้ความสนใจกับช่วงเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกมากเกินไป
ที่มา http://www.naewna.com/business/164103