กรอ.เปิด 3 มาตรการป้องกันมลพิษน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมการระบายน้ำทิ้ง คุมเข้มติดตั้งอุปกรณ์แสดงสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย และสั่งการให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกำชับให้การปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบ และการสั่งการใช้บทลงโทษของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเข้..
กรอ.เปิด 3 มาตรการป้องกันมลพิษน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมการระบายน้ำทิ้ง คุมเข้มติดตั้งอุปกรณ์แสดงสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย และสั่งการให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกำชับให้การปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบ และการสั่งการใช้บทลงโทษของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเข้มข้นโปร่งใส เพื่อให้การแก้ปัญหามลพิษน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมมีประสิทธิผล
ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการนำเสียจากโรงงงานอุตสาหกรรมสูงสุด กรอ. ได้กำหนด 3 มาตรการสำคัญ เพื่อป้องกันมลพิษน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมการระบายน้ำทิ้ง คุมเข้มติดตั้งอุปกรณ์แสดงสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย ดังนี้
1. มาตรการควบคุมการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานอุตสาหกรรม
โดยมาตรการดังกล่าวให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จากการรวบรวมข้อมูลโรงงานในประเทศ พบว่ามีโรงงานจำพวกที่3 (นอกนิคม) ที่อยู่ในการดูแลของ กรอ. จำนวน 77,547 โรง เป็นโรงงานที่มีน้ำเสีย 34,326 โรง โดยในปี 2558 มีเป้าหมายการตรวจติดตามโรงงานทั้งหมด 9,768 โรง ได้ดำเนินการตรวจติดตามสะสมไปแล้ว 5,860 โรง คิดเป็น 60% ของเป้าหมาย
2. มาตรการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย
โดยกำหนดให้โรงงานที่มีน้ำทิ้ง มากกว่า 500 ลบ.ม / วัน ต้องติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย (BOD/COD online) พร้อมส่งสัญญาณค่าการตรวจวัดแจ้งให้ กรอ.ทราบ มีจำนวนทั้งสิ้น 243 โรงงาน ซึ่งโรงงานที่ได้รายงานมายัง กรอ. มีจำนวน 274 โรงงาน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมาย คิดเป็น 113%
3. มาตรการกำหนดให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน
ได้แก่ โรงงานที่มีปริมาณน้ำเสีย ตั้งแต่ 500 ลบ.ม./วัน โรงงานที่ใช้สารโลหะหนัก และโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง มีโรงงานที่เข้าข่ายดังกล่าวประมาณ 2,000 โรงงาน โดยปัจจุบันมีโรงงานที่มีผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษแล้วจำนวน 1,500 โรงงาน ทั้งนี้เพื่อควบคุมการเดินระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ
ดร. พสุ กล่าวต่อว่า กรอ. มีบทลงโทษ กับโรงงานที่มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียโดยตรงที่ไม่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสีย หรือโรงงานที่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยบทลงโทษมีตั้งแต่การ สั่งปรับ 20,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการสั่งหยุดประกอบกิจการโรงงาน
นอกจากนี้ หากวิศวกรมีส่วนรู้เห็นในความผิดก็จะถูกลงโทษด้วย ซึ่งการใช้บทลงโทษต่างๆเหล่านี้ ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความตระหนักด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ใน ปี 2557 เฉพาะในกรุงเทพฯ กรอ. ได้ดำเนินคดีการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 จำนวน 4 คดี และในปี 2558 ถึงปัจจุบันได้เปรียบเทียบปรับไปแล้ว 5 คดี
นอกจากนี้ จากสถิติการเก็บรวบรวมข้อมูลมลพิษน้ำทั่วประเทศ ผ่านศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม (Industrial Environment Monitoring Center : IEMC) ซึ่งเป็นระบบตรวจวัดมลพิษระยะไกลอย่างต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ (Online Pollution Minute System : OPMS) อันทันสมัยของ กรอ. ที่เชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลการระบายน้ำทิ้งจากอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย (BOD/COD online) ของโรงงานในระบบแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง
โดยอุปกรณ์ฯดังกล่าวจะติดตั้งที่จุดระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานและส่งสัญญาณเตือนทันทีที่พบค่ามลพิษน้ำเกินมาตรฐาน พบว่า จังหวัดที่มีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานสูงสุดต่อวัน เรียงอันดับ1-5 ได้แก่ สมุทรปราการ จำนวน 98,326 ลบ.ม. สมุทรสาคร จำนวน 84,060 ลบ.ม. พระนครศรีอยุธยา จำนวน 71,906 ลบ.ม. ระยอง จำนวน 63,298 ลบ.ม. และ นครปฐม จำนวน 59,815 ลบ.ม. และประเภทโรงงานเฝ้าระวังที่มีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานสูงสุดต่อวัน เรียงอันดับ 1-5 ได้แก่ โรงงานบำบัดน้ำเสียรวม โรงงานฟอกย้อม โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ โรงงานยางสังเคราะห์และโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์น้ำ