นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทและอ..
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ตามนโยบายของรัฐบาลด้วยแล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายโอกาสทางธุรกิจ
ซึ่งในปี 2557 ตลาดรวมธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยมีมูลค่าสูงกว่า 17,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.27% ของมูลค่าตลาดโลก โดยธุรกิจของผู้ประกอบการไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. ผลิตผลงานภายใต้ลิขสิทธิ์ของตนเอง (IP) และ 2. รับจ้างผลิตผลงานภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้ประกอบการอื่น (Outsource) ตลาดส่งออกสำคัญคือ ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป ตลาดใหม่คือ ฟิลิปปินส์ จีน โดยตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ส่วนคู่แข่งสำคัญคือ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย
กระทรวงไอซีที โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ได้จัดทำแผนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ เสนอคณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิทัล การส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ดิจิทัล และการส่งเสริมเนื้อหาดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเรื่องสำคัญเร่งด่วนคือ การสร้างแบรนด์ของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านคอนเทนต์ของอาเซียน รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การขยายตลาดเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศ การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน แหล่งทุน ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศ
ในส่วนของสมาคมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ได้เสนอโครงการสร้างแบรนด์ไทยด้านดิจิทัลคอนเทนต์สู่ตลาดต่างประเทศ โดยจะมีการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันที่ใช้เนื้อเรื่องและตัวละครจากวรรณคดีไทย “สุดสาคร” ฉบับดัดแปลงใหม่ให้มีความร่วมสมัยและสนุกสนานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งนำตัวละครไปจดทรัพย์สินทางปัญญาและต่อยอดทรัพย์สินทางปัญญาของดิจิทัลคอนเทนต์ไปสู่ธุรกิจด้านต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การผลิตเกม ของขวัญ ของเล่น ของที่ระลึก และสื่อการเรียนรู้ต่างๆ
“โครงการดังกล่าวจะเป็นต้นแบบนำร่องการดำเนินงานอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อผลิตผลงานร่วมกัน และนำไปสู่การต่อยอดทั้งด้านองค์ความรู้และด้านธุรกิจ รวมทั้งจะก่อให้เกิดการพัฒนาในหลายๆ ด้าน เช่น การสร้างสรรค์และส่งเสริมผลงานภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้ประกอบการไทยผ่านช่องทางดิจิทัลมีเดียต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์ถึงความสามารถของผู้ประกอบการไทยแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย” นายพรชัยฯ กล่าว