18 เดือนวิปโยค SME ไทยเจ๊งนับแสน

ศูนย์วิจัยฯธุรกิจบัณฑิตย์ เผยผลวิจัยคาด 18 เดือนเอสเอ็มอีเจ๊งนับแสนราย เหตุขึ้นค่าแรงก้าวกระโดดเกินไป ขึ้นเป็นเบอร์ 2 ค่าแพงสุดในอาเซียน



ศูนย์วิจัยฯธุรกิจบัณฑิตย์ เผยผลวิจัยคาด 18 เดือนเอสเอ็มอีเจ๊งนับแสนราย เหตุขึ้นค่าแรงก้าวกระโดดเกินไป ขึ้นเป็นเบอร์ 2 ค่าแพงสุดในอาเซียน 

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC)  เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ: บทเรียน  ผลกระทบ  และการปรับตัว”  ซึ่งได้ทำการสำรวจแนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)  โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ประกอบการ จำนวน  536  ราย  ใน 7 จังหวัดนำร่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท  ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี  ปทุมธานี  สมุทรปราการ  สมุทรสาคร  นครปฐม  และภูเก็ต   

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของค่าแรงขั้นต่ำในต่างประเทศพบว่า  การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้เกิดการเลิกจ้างในระดับที่แตกต่างกัน   ยิ่งค่าแรงขั้นต่ำใหม่มีค่าใกล้เคียงกับค่าแรงเฉลี่ยของประเทศ  ผลด้านการเลิกจ้างก็จะยิ่งสูงขึ้น  โดยจากการศึกษาพบว่า  หากค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจนเกินกว่า  40%  ของค่าแรงเฉลี่ย (เช่น  ถ้าค่าแรงเฉลี่ยเท่ากับ 400 บาทต่อวัน  40% ของค่าแรงเฉลี่ยจะเท่ากับ 160 บาทต่อวัน) จะเกิดปัญหาเลิกจ้างอย่างมีนัยสำคัญ  โดยเฉพาะการเลิกจ้างแรงงานที่เป็นเยาวชน  และแรงงานของธุรกิจเอสเอ็มอี  

ในกรณีของประเทศไทย  การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท  ทำให้ค่าแรงใหม่คิดเป็นประมาณ 75%  ของค่าแรงเฉลี่ยของประเทศ  ซึ่งถือว่าอยู่ระดับสูงมาก ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  พบว่า  จำนวนเอสเอ็มอีใน 7 จังหวัดนำร่อง  มีจำนวน  888,089  ราย  จึงเป็นไปได้ว่า  ในช่วง  18  เดือนข้างหน้า  จะมีเอสเอ็มอีที่ต้องปิดกิจการลงเนื่องจากผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและต้นทุนการผลิตในส่วนอื่นที่สูงขึ้นเป็นจำนวน  ประมาณ  88,000 ถึง 130,000 ราย  

นอกจากนี้ จากการสำรวจของธนาคารโลกพบว่า  สถานประกอบการไทยขาดแคลนแรงงานที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างมากที่สุดในอาเซียน  โดยคิดเป็น 38.8% ของสถานประกอบการทั้งหมดในประเทศ  เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่ไม่รวมประเทศไทย  ซึ่งมีค่าประมาณ  12.6%  จะเห็นได้ว่า  ปัญหาในประเทศไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนถึง 3 เท่า  

  นอกจากนี้แล้ว  การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท  ทำประเทศไทยมีค่าแรงขั้นต่ำใกล้เคียงกับประเทศฟิลิปปินส์  และสูงกว่าประเทศที่เหลือในอาเซียนทั้งหมด  โดยสูงกว่ามาเลเซีย 14%  อินโดนีเซีย 92%  ลาว 220%  เวียดนาม  284%  และกัมพูชา  380%  

ความแตกต่างทั้งสองประการนี้   จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระยะยาว  โดยเฉพาะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก
 

NEWS & TRENDS