เอสเอ็มอีแบงก์เผยครึ่งปีแรกมีผู้ประกอบการรายย่อยมาขอกู้ กว่า 1,200 ราย วงเงินกว่า 6,000 ล้านบาท พร้อมลงนามร่วม บสย.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต้ำ Policy Loan ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน เดินหน้าธุรกิจ
เอสเอ็มอีแบงก์เผยครึ่งปีแรกมีผู้ประกอบการรายย่อยมาขอกู้ กว่า 1,200 ราย วงเงินกว่า 6,000 ล้านบาท พร้อมลงนามร่วม บสย.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต้ำ Policy Loan ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน เดินหน้าธุรกิจ
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 15 ก.ค.2558 มี SMEs มาขอกู้ 1,217 ราย รวมวงเงิน 6,185 ล้านบาท เป็นผู้กู้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว 867 ราย วงเงิน 3,897 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็น SMEs ขนาดเล็กที่ต้องการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าเงินจะถึงมือกลางเดือนสิงหาคม รายละ 4.5 ล้านบาท ใช้เกณฑ์พิจารณา 7-10 วัน โดยครึ่งปีแรกอนุมัติให้เอสเอ็มอีไปแล้ว 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ นางสาลินีและนายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินของผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว วงเงิน 15,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ได้กำหนดหลักเกณฑ์สินเชื่อ Policy Loan ออกเป็น กรณีแรกกู้เงินไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็น SMEs ขนาดเล็ก ไม่มีหลักประกัน ให้ บสย.ค้ำประกันเต็มจำนวน กรณีที่สองกู้เงินมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ถ้าผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานพันธมิตรกับเอสเอ็มอีแบงก์ บสย.จะค้ำประกันทั้งหมด แต่ถ้าไม่ผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานพันธมิตร บสย.จะค้ำประกัน ร้อยละ 60 และกรณีที่สามกู้เงินมากกว่า 5 ล้านบาท ให้ใช้หลักประกันตามเกณฑ์ของธนาคาร
ส่วนอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 ร้อยละ 4 สำหรับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทแรก ปีที่ 4-5 วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี และถ้าวงเงินเกิน 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์ของธนาคาร มีระยะเวลาการกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน และ บสย.จะยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ผู้กู้ในปีแรก ส่วนปีที่ 2 -3 คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของวงเงินค้ำประกัน จากอัตราปกติที่เรียกเก็บร้อยละ 1.75 โดยกระทรวงการคลังจะชดเชยส่วนที่ขาดให้ บสย. และในปีที่ 4 – 5 SMEs จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ บสย.ตามปกติ คือ ร้อยละ 1.75 ของวงเงินค้ำประกัน