กก.ขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลุยหนักลงทุน 2 ปีนี้กว่า 2.3 ล้านล้าน แบ่งเป็นเงินกู้ 1.16 ล้านล้าน ขณะเดียวกันเตรียมงบ 3 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และอีกแสนล้านจ้างงานระดับท้องถิ่น
กก.ขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลุยหนักลงทุน 2 ปีนี้กว่า 2.3 ล้านล้าน แบ่งเป็นเงินกู้ 1.16 ล้านล้าน ขณะเดียวกันเตรียมงบ 3 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และอีกแสนล้านจ้างงานระดับท้องถิ่น
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ เผยว่า สัปดาห์หน้าจะประชุมคณะกรรมการเป็นครั้งแรก ขณะนี้ให้ฝ่ายเลขาฯ เตรียมเอกสารการประชุม ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จะมีส่วนช่วยในการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศได้มาก ที่ผ่านมาการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจกระจัดกระจายไม่ชัดเจน แต่ตอนนี้รวมมาอยู่ที่เดียวกัน เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น โดยคณะกรรมการชุดนี้จะดูว่าที่ผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจมีอะไรบ้าง ดำเนินการไปแค่ไหน ต้องเพิ่มเติมส่วนใดบ้าง คณะกรรมการจะดูทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น การลงทุนของประเทศ มาตรการด้านภาษี ฯลฯ
"สำหรับการลงทุนจะเน้นเรื่องการเบิกจ่ายโครงการลงทุนในปีงบประมาณ 2559 และ 2560 ที่เป็นการใช้เงินงบประมาณจากเงินกู้ เงินของรัฐวิสาหกิจ และจากการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน เป็นวงเงินลงทุนทั้งหมด 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าโครงการลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท ที่เป็นเงินลงทุนในระยะยาวประมาณ 10 ปี"
สำหรับคณะกรรมการดังกล่าว มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นรองประธาน ขณะที่กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนการค้าไทย ปลัดกระทรวงต่างๆ ฯลฯ
กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2558-2559 ประกอบด้วย การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐต่อรัฐและการเข้าร่วมลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินการในช่วงปี 2558-2559 ภายในกรอบวงเงินลงทุนรวม 2.33 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินกู้ 1.16 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกันกรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2558-2559 ยังประกอบด้วย การส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการปรับสิทธิประโยชน์การลงทุนแต่ละประเภทให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน การเชิญชวนภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมลงทุน และยังมีมาตรการการเงินการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนวงเงิน 100,000 ล้านบาท
อาทิ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง, มาตรการการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น เช่น ซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ การซ่อมแซมโรงเรียน, มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และมาตรการกระตุ้นภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้กระทรวงการคลังเร่งรัดให้เอกชนนำเข้าเครื่องจักรในช่วงปี 2558-2559 โดยการยกเว้นภาษีและอากร
ที่มา http://www.khaosod.co.th/