เม.ย.ดัชนีเชื่อมั่นฯส่งออกพุ่ง SME วูบ

ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. แนวโน้มดีเพิ่มขึ้น 5 เดือนซ้อน ส่วนเอสเอ็มอีลดลง หลังโดนพิษยอดคำสั่งซื้อ ปริมาณการขาย พ่วงต้นทุนเพิ่ม


ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. แนวโน้มดีเพิ่มขึ้น 5 เดือนซ้อน ส่วนเอสเอ็มอีลดลง หลังโดนพิษยอดคำสั่งซื้อ ปริมาณการขาย พ่วงต้นทุนเพิ่ม 
       
        นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนเมษายน 2555 จำนวน 1,086 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 25.0, 49.4 และ 25.7 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ
       
        ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 104.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.1 ในเดือนมีนาคม ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เหนือระดับ 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนภาคการผลิตที่น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนเมษายน ได้แก่ อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ผลดีจากเทศกาลสงกรานต์ทำให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น
       
        ขณะที่ภาคการส่งออกยังส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเช่นกัน เห็นได้จากค่าดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศอยู่ในระดับเกิน 100 

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ยังให้น้ำหนักกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ใน 7 จังหวัด นำร่อง (กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, สมุทรสาคร, และภูเก็ต) และปรับเพิ่มอีกร้อยละ 40 ของค่าจ้างเดิมในอีก 70 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในช่วงที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
       
        ส่วนภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 95.7 ลดลงจากระดับ 100.5 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ 

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น อุตสาหกรรมยา ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.9 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
       
        ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอยากให้รัฐช่วยส่งเสริมการบริโภคและการจำหน่ายในประเทศให้มากขึ้น ควบคู่กับการลดค่าครองชีพของประชาชน ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว รวมถึงควรมีการวางแผนการศึกษาหรือการส่งเสริมการศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เพื่อช่วยลดการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมควบคู่กันไป
 

NEWS & TRENDS