ลุยจัดยุทธศาสตร์ถนน 20 ปี นายกฯ สั่ง คมนาคม ทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาถนน 20 ปี เชื่อมลงทุน โครงข่าย 4.7 แสนกม.เข้าด้วยกัน ให้สอดคล้องกับการเติบโตค้าชายแดน ท่องเที่ยว ชุมชน
ลุยจัดยุทธศาสตร์ถนน 20 ปี นายกฯ สั่ง คมนาคม ทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาถนน 20 ปี เชื่อมลงทุน โครงข่าย 4.7 แสนกม.เข้าด้วยกัน ให้สอดคล้องกับการเติบโตค้าชายแดน ท่องเที่ยว ชุมชน
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพ จัดทำยุทธศาสตร์ถนนประเทศไทยระยะ 20 ปี ตั้งแต่ปี 59-79 เพื่อวางแผนการพัฒนาถนนทั้งประเทศ 470,000 กม. ให้มีมาตรฐาน และโครงข่ายที่เชื่อมโยงกัน ตลอดจนลำดับเวลาโครงการก่อสร้าง งบประมาณการลงทุนของการตัดถนนใหม่ การบำรุงรักษาถนนทั่วไป การซ่อมแซมถนนที่ชำรุดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะจัดทำยุทธศาสตร์ฯเสร็จ และเสนอ ครม.ในเดือนส.ค.นี้
“ปัจจุบันถนนในประเทศ มีการก่อสร้างและบำรุงรักษาจากหลายหน่วยงาน ทั้งกรมทางหลวง ที่ดูแลถนนสายหลักของประเทศ กรมทางหลวงชนบท ที่ดูแลถนนสายแยกย่อยจากถนนสายหลัก นอกจากนั้นยังมีถนนในชุมชน ที่เป็นขององค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตลอดจนถนนของกรมชลประทาน ดังนั้นต่อไปในยุทธศาสตร์ จะช่วยทำให้เห็นภาพรวมใน 20 ปีข้างหน้า ว่าโครงสร้างถนนของไทย จะตัดใหม่เส้นไหน บำรุงรักษาอย่างไร ซึ่งสอดคล้องกันทุกหน่วยงาน ขณะเดียวกันจะกำหนดมาตรฐานแต่ละถนนว่า เส้นไหนควรขยาย 4 ช่องทาง หรือทำเป็นถนนคอนกรีต หรือถนนลาดยาง ตลอดจนปรับปรุงถนนลูกรังให้ดีขึ้นด้วย”
นางสร้อยทิพย์ กล่าวว่า การทำยุทธศาสตร์ถนน ยังมีเป้าหมายเพื่อให้การพัฒนาถนนสอดคล้องกับแผนพัฒนาด้านต่าง ๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของชุมชน เศรษฐกิจ การค้าชายแดน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยวด้วย ซึ่งขณะนี้มอบหมายให้นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานจัดทำยุทธศาสตร์ โดยสัปดาห์หน้าจะนำข้อมูลจากกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทที่มีถนนรวมกันกว่า 1 แสนกม.มาหารือเตรียมความพร้อม ก่อนนำไปหารือกับหน่วยงานภายนอก เช่น กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร อปท. เพื่อสรุปเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวต่อไป
นอกจากนี้ในยุทธศาสตร์นี้ ยังจัดทำถึงแผนการโอนย้ายถนนที่กรมทางหลวงชนบท โอนย้ายไปให้ อปท.ด้วยว่า มีถนนเส้นใดที่มีปัญหา หรือมีเส้นใดที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนสถานะของถนน ที่อยู่ในการดูแลของ อปท.ว่ามีเส้นไหนที่มีคนใช้จำนวนมาก ก็อาจจะโอนย้ายมาในการดูแลของกรมทางหลวงชนบท“
ที่มา : http://www.dailynews.co.th/economic/339453 : เดลินิวส์ออนไลน์