แนะส่งออก SME หนียุโรป ซบ CLMV อนาคตสดใส

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ชี้วิกฤตยุโรปพ่นพิษฉุดส่งออกเอสเอ็มอีไปยุโรปหดตัวต่อเนื่อง แนะคว้าโอกาสทองรุกตลาด กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ทดแทน ระบุ “แนวโน้มสดใส” และคุ้นเคยสินค้าไทย



ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ  TMB Analytics ชี้วิกฤตยุโรปพ่นพิษฉุดส่งออกเอสเอ็มอีไปยุโรปหดตัวต่อเนื่อง แนะคว้าโอกาสทองรุกตลาด กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ทดแทน ระบุ “แนวโน้มสดใส” และคุ้นเคยสินค้าไทย

สำหรับภาวะวิกฤตยุโรปทำให้ยอดการส่งออกของธุรกิจเอสเอ็มไทยไปตลาดยุโรประหว่างปี 2551-2553 หดตัวต่อเนื่อง 3 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยร้อยละ 5.9  ต่อปี ส่วนใหญ่ลดลงจากตลาดหลัก 7 ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออก

เกิน 1 หมื่นล้านบาท (อังกฤษ เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศษ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน) และมีท่าทียืดเยื้อกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยเราประเมินว่ากลุ่มประเทศที่ใช้ค่าเงินยูโรอาจหดตัวถึงร้อยละ 1 ในปีนี้ และหดตัวต่อเนื่องในปี 2556 ในกรอบร้อยละ 0-0.3 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีที่เน้นส่งออกไปตลาดยุโรปคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 ของส่งออกเอสเอ็มอีทั้งหมด ต้องเร่งหาตลาดใหม่ทดแทน

การเข้าสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” ของ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม (CLMV) ในปี 2558 นับเป็นโอกาสที่ใกล้ตัวและพอเหมาะพอเจาะที่สุดในการช่วยลดผลกระทบพิษวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปต่อการส่งออกของธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากเอสเอ็มอีไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดดังกล่าวได้ง่าย ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำและมีศักยภาพในการแข่งขันกับสินค้าในตลาดเกิดใหม่ทั้ง 4 ประเทศสูง 

จากข้อมูลการส่งออกของธุรกิจเอสเอ็มอีพบว่า สัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV เปรียบเทียบกับมูลค่าส่งออกของธุรกิจเอสเอ็มอีไปกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.0 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 38.1 ในปี 2553 โดยมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV เฉลี่ยร้อยละ 13.2 ต่อปี ระหว่างปี 2551-2553

ขณะที่มูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเดิม(มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และบรูไน) มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยลดลง 1.6 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มประเทศ CLMV กำลังทวีความสำคัญต่อการส่งออกของธุรกิจเอสเอ็มอีไทย 

        โดยสินค้าหลักที่ส่งออกในปี 2553 เป็นสินค้าทุนและวัตถุดิบ ได้แก่ กลุ่มสินค้าพลาสติก น้ำตาล เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น เนื่องจากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV กำลังขยายตัว ยังจำเป็นต้องใช้สินค้าทุนและวัตถุดิบอีกจำนวนมากด้วยความได้เปรียบทางความคุ้นเคยทางด้านวัฒนธรรม ภาษา การเปิดรับวัฒนธรรมการบริโภคจากสื่อไทยของประชาชนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทย มองว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาไม่แพง ซึ่งน่าจะแต้มต่อสำหรับแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดกลุ่มประเทศ CLMV

อย่างไรก็ดี ธุรกิจเอสเอ็มอีที่สนใจตลาดกลุ่มประเทศ CLMV สามารถเริ่มเข้าสู่ตลาดนี้โดยการส่งสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายในกลุ่มประเทศ CLMV หรือกลุ่มผู้ค้าชายแดนในประเทศไทย เมื่อขายสินค้าได้มากขึ้นและทราบพฤติกรรมผู้บริโภค จึงเข้าไปดำเนินการกระจายสินค้าเอง และลงทุนสร้างฐานการผลิตในระยะต่อไป อีกด้านหนึ่ง ธุรกิเอสเอ็มอีสามารถเชื่อมโยงกับผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ที่เข้าไปขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV แล้ว โดยทำหน้าที่เป็นผู้ขายวัตถุดิบ(Supplier) หรือ รับซื้อและกระจายสินค้า(Buyer)  เช่น  ขายส่งสินค้าให้กับธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เปิดธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV หรือ การเข้าไปเป็นผู้รับเหมาช่วงจากผู้รับเหมารายใหญ่ที่ดำเนินการก่อสร้างในโครงการต่างๆ เป็นต้น

แม้ว่าการลดภาษีนำเข้าของกลุ่มประเทศ CLMV จะแล้วเสร็จภายในปี 2558 หรืออีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสสำคัญของธุรกิเอสเอ็มอีไทยสำหรับศึกษาลู่ทาง และเข้าดำเนินการในตลาดเป้าหมายก่อน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในตลาดที่มีคู่แข่งน้อยกว่า และ เพื่อศึกษาพฤติกรรม วัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น พร้อมสร้างเครือข่ายธุรกิจรองรับการแข่งขันในอนาคต ทางเลือกนี้ย่อมดีกว่าการพึ่งพิงตลาดที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักหน่วงเช่นยุโรปต่อไป
 

NEWS & TRENDS