อุตฯชี้ AEC Blueprint ขับเคลื่อนตามแผนทันรับ AEC แน่นอน

กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ส่วน AEC Blueprint จุดประกายเร่งพัฒนาผลิตภาพไทย เดินหน้าได้ตามแผนเสร็จทันต้อนรับประชาคม ASEAN ต้นปี 2559 อย่างแน่นอน



    กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ส่วน AEC Blueprint จุดประกายเร่งพัฒนาผลิตภาพไทย เดินหน้าได้ตามแผนเสร็จทันต้อนรับประชาคม ASEAN  ต้นปี 2559 อย่างแน่นอน

          นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการประชุมของคณะอนุกรรมการประชาคมอาเซียนของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา โดยมีผลจากการประชุมในครั้งนั้นหลายประการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ การดำเนินการตาม พิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint)  ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 เพื่อเป็นการรองรับประชาคม ASEAN ในช่วงต้นปี 2559 โดยขณะนี้ดำเนินการไปตามแผนทุกประการ
 
    เมื่อประเทศไทยและสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ มีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม AEC Blueprint  และการเข้าสู่ AEC เป็นไปอย่างสมบูรณ์แล้ว ภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งนักลงทุน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ    ไปจนถึงบุคคลทั่วไปที่เกี่ยวข้อง ควรเล็งเห็นโอกาสทองเมื่อ AEC รวมเป็นหนึ่งเดียว (ASEAN as one) ซึ่งจะก่อให้เกิดขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น การขยายการส่งออก  และโอกาสทางการค้า  จากการยกเลิกอุปสรรคภาษีและที่มิใช่ภาษี ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สินค้าได้เคลื่อนย้ายได้ง่ายขึ้น และสร้างโอกาสทางการค้าในอุตสาหกรรมภาคบริการในสาขาที่ไทยมีความเข้มแข็ง เช่น ท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร สุขภาพ  ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีรายได้จากการค้าบริการและภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างเสริมโอกาสในการลงทุนในขณะที่อุปสรรคการลงทุนระหว่างอาเซียนจะลดน้อยลง ที่สำคัญจะเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยในเวทีการค้าทั่วโลก และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมโลก 

          ก้าวต่อไปของไทยหลังปี 2558  (Post AEC 2015)  ไทยจะได้รับประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประชาคมของอาเซียนมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน หมายรวมถึงประชาชน นักธุรกิจผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรม โดยหากภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีความพร้อม ก็ต้องเร่งพัฒนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้พร้อมรับกับการแข่งขันทั้งในมิติของ Supply Side และ Demand Side เช่นพัฒนาผลิตภาพหรือพัฒนาในเชิงนวัตกรรมเพื่อแข่งขันในตลาดระดับภูมิภาคและระดับโลก

    นอกจากนี้  ในส่วนของมาตรการเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบ National Single Window (NSW) นั้น หน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องดำเนินการเชื่อมต่อระบบ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.)กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.)

    โดยสถานะล่าสุด สอน. กพร. กรอ. และ สฟอ. ได้ดำเนินการเชื่อมต่อระบบแล้ว สำหรับ สมอ. อยู่ในระหว่างดำเนินการโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนศกนี้ อย่างไรก็ตามการเชื่อมต่อข้อมูลเข้าด้วยกันนั้น ถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ยังต้องให้ทุกหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ทั้ง 36 แห่ง ที่สำคัญ อาทิ      กรมศุลกากร, กรมการค้าต่างประเทศ, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ประสานความร่วมมือบูรณาการข้อมูลของแต่ละฝ่ายให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดีในอนาคต
           
    ดังที่ทราบว่า National Single Window (NSW) เป็นการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลแบบ   บูรณาการเพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจากการติดต่อเพียงจุดเดียว โดยมุ่งที่จะลดต้นทุนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรม และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ลดขั้นตอนการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เอกสารต่างๆ เช่น ใบอนุญาตการนำเข้า ใบอนุญาตการส่งออกและใบรับรองต่างๆ ที่ออกโดยหน่วยงานหนึ่งสามารถที่จะจัดส่งทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างอัตโนมัติไปให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

    ปัจจุบันระบบ NSW ของประเทศไทย มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเชื่อมโยงข้อมู]อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้พัฒนาระบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านอุตสาหกรรม การค้าระหว่าง NSW ของแต่ละประเทศให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนหรือ ASEAN Single Window (ASW) เพื่อให้อาเซียนก้าวไปสู่การเป็นตลาดเดียวและมีฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน (Single Market and Production Base)

www.smethailandclub.com : แหล่งรวมข้อมูล เพื่อผู้ประกอบการ SME




NEWS & TRENDS