นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ บสย.ได้อนุมัติหลักเกณฑ์การปรับปรุงและวิธีปฏิบัติของโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระยะที่ 5 หรือพีจีเอส 5 ซึ่งได้ส่งรายละเอียดการปรับเงื่อนไขใหม่ทั้ง..
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ บสย.ได้อนุมัติหลักเกณฑ์การปรับปรุงและวิธีปฏิบัติของโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระยะที่ 5 หรือพีจีเอส 5 ซึ่งได้ส่งรายละเอียดการปรับเงื่อนไขใหม่ทั้งหมดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(แบงก์รัฐ) และธนาคารพาณิชย์ รวมกว่า 20 แห่งแล้ว คาดว่าสถาบันการเงินต่างๆ จะพร้อมปล่อยสินเชื่อ ได้ในวันที่ 1 กันยายนนี้
การปรับปรุงเงื่อนไขดังกล่าว เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558ที่เห็นชอบให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติในการค้ำประกันสินเชื่อโครงการพีจีเอส 5 ในวงเงินส่วนที่เหลือจากโครงการพีจีเอส กรอบวงเงินค้ำประกันจำนวนไม่เกิน8 หมื่นล้านบาท โดยเงื่อนไขที่ปรับปรุงใหม่กำหนดให้ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการคิดอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการในอัตราไม่เกิน MLR + 2 หรือเฉลี่ยราว 8.75%
นอกจากนี้ ได้ปรับเงื่อนไขให้ บสย.จ่ายค่าประกันชดเชยกรณีที่เป็นหนี้เสียทั้งโครงการรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 30% ของวงเงินค้ำประกันรวม จากเดิม 18% และจ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกันเอสเอ็มอีแต่ละราย เป็นสัดส่วน 70% ของภาระค้ำประกัน และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการรับภาระในส่วนที่เหลืออีก30% และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องได้รับการตรวจสอบเครดิตบูโรแล้วเป็นลูกหนี้ปกติตามเกณฑ์ข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ขยายเวลาออกไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จากสิ้นสุดการรับคำขอเดิม 31 ธันวาคม 2558
ส่วนโครงการค้ำประกันสินเชื่อพีจีเอส 5 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินค้ำประกันตามเงื่อนไขเดิม โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปีแรกในอัตรา 1.75% นั้น ล่าสุด บสย.ได้ค้ำประกันครบเต็มวงเงินแล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา
“เดิมทีโครงการพีจีเอส 5 ทางบสย.จะรับความเสี่ยงหากเกิดเอ็นพีแอลที่ 18%ของวงเงินค้ำประกันรวม และจ่ายเต็มทั้งหมด100% แต่การปรับปรุงเงื่อนไขครั้งนี้มีการขยายเพิ่มเป็น 30% และทางบสย.จะเป็นผู้รับภาระ 70% ในส่วนที่เหลือ 30% ทางสถาบันการเงินเป็นผู้รับภาระไป” นายวัลลภกล่าว
ที่มา แนวหน้า