ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) แถลงผลสำเร็จการดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจการค้างานศิลปหัตถกรรม 33 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจเชิงลึก จับคู่เจรจาธุรกิจ พร้อมยกระดับผู้ประกอบการงานหัตถกรรมไทยก้าวไกลสู่สากล

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) แถลงผลสำเร็จการดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจการค้างานศิลปหัตถกรรม 33 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจเชิงลึก จับคู่เจรจาธุรกิจ พร้อมยกระดับผู้ประกอบการงานหัตถกรรมไทยก้าวไกลสู่สากล
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการนี้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้กับสมาชิกของ ศ.ศ.ป. และผู้ประกอบการศิลปหัตถกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เสริมความรู้การบริหารจัดการธุรกิจ พัฒนาการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ตลอดจนการผลักดันแนวคิดการพัฒนาธุรกิจให้เกิดมูลค่าและคุณค่าเพิ่มด้วยการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เสน่ห์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นการสร้างรากฐานผู้ประกอบการศิลปหัตถกรรมที่เข้มแข็ง เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ พร้อมใช้ประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC
สำหรับกลุ่มเป้าหมายเป็นสมาชิก ศ.ศ.ป. ผู้ประกอบการหัตถกรรมไทย หมู่บ้าน/ชุมชน นักออกแบบ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ เรียนรู้ และนำองค์ความรู้เพื่อนาไปใช้ในธุรกิจ ดังนั้นจึงจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะเสริมองค์ความรู้และทักษะการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การมีศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ การรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายหัตถกรรมที่เข้มแข็ง เกิดเครือข่ายการค้า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ของทั้งระบบของงานหัตถกรรม
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจการค้างานศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2558 หรือครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนสิงหาคมนี้ มีกิจกรรมที่สำคัญ 2 กิจกรรม คือ การอบรม สัมมนา 26 หลักสูตร และการบ่มเพาะธุรกิจเชิงลึก
กิจกรรมการอบรมสัมมนา 26 หลักสูตร ครอบคลุมความรู้ที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางการตลาดของผู้ประกอบการ ได้แก่ ด้านพื้นฐานการดำเนินธุรกิจ การวางแผนและการคิดเชิงกลยุทธ์ และการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจยุคปัจจุบัน เช่น Digital Economy, Social Enterprise, Green Economy, Creative Economy ฯลฯ ซึ่งคัดสรรมาให้เหมาะกับผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการต่อยอดธุรกิจ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมสัมมนาในหลักสูตรต่างๆ รวม 1,193 คน
กิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจเชิงลึก ในปีนี้ได้คัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 33 ราย เพื่อรับการพัฒนาแก้ปัญหาและตอบโจทย์ธุรกิจที่ตรงกับความต้องการของตลาด การกำหนดกลยุทธ์การตลาดและการสร้างช่องทางการขาย การพัฒนาหรือคัดเลือกผลิตภัณฑ์ เพื่อการจัดจำหน่ายที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดนใจลูกค้า การทบทวน และเสริมสร้างความพร้อมในการประกอบธุรกิจ และการวางแผนด้านการสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์
กระบวนการพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจการศิลปหัตถกรรมไทย ที่ ศ.ศ.ป. จัดขึ้น ตั้งแต่การจัดอบรม สัมมนา และ การบ่มเพาะธุรกิจเชิงลึก ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ไปปรับประยุกต์ใช้กับการดำเนินงาน และพัฒนาธุรกิจของคนเองให้ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นที่ประจักษ์ว่า ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้ากำลังได้รับความนิยมสูง เนื่องจากผ้าสามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้หลากหลาย เช่น กระเป๋า ผ้าพันคอ เครื่องแต่งกาย เป็นต้น โดยจากตัวเลขการส่งออก สินค้าจากผ้าทอ ผ้าไหม ที่นำมาผลิตเป็นกระเป๋า ผ้าคลุมไหล่ ตลาดหลักจะอยู่ในสหรัฐฯ ส่วนในประเทศ แต่ถ้ามองจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยก็จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากจีน
พร้อมกันนี้โครงการฯ ยังได้จัดพิธีมอบประกาศนียบัตร เพื่อเป็นเกียรติ เป็นกำลังใจแก่ผู้ประกอบการ และเปิดเวทีจัดแสดงผลงานของผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ตลอดจนเชิญนักธุรกิจ และคู่ค้าเข้าร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการ เพื่อเชื่อมโยงให้ 2 ฝ่าย ได้ต่อยอดธุรกิจระหว่างกัน ผู้ประกอบการก็สามารถเข้าถึงช่องทางการจำหน่าย ไปสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ ส่วนนักธุรกิจก็ได้สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่ๆ ด้วย
โดยหลังจากผู้ประกอบการผ่านกระบวนการพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ในมิติต่างๆ ภายใต้โมเดลดังกล่าว แล้วผู้ประกอบการที่มีศักยภาพโดดเด่น มีความเหมาะสมในการเป็นตัวอย่างแก่ผู้ประกอบการรายอื่น จะได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศกับ ศ.ศ.ป. เพื่อสนับสนุนการขยายโอกาสและช่องทางการค้าแก่ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย โดยที่ผ่านจากผู้ประกอบการในระดับเอ มี 5 ราย จากทั้งหมด 30 รายที่สามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศได้ ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางที่จะต่อยอดสินค้าให้ไปสู่ตลาดโลกได้ ส่วนอีก 25 รายนั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จในตลาดในประเทศ
SME Thailand เพื่อนคู่คิด ธุรกิจเอสเอ็มอี
ติดตามข้อมูลดีๆ เพื่อ SME ได้ที่ www.smethailandclub.com