หอการค้าชี้ธุรกิจเกือบครึ่งขึ้นราคาตามค่าแรง

หอการค้าไทยชี้หลังปรับค่าแรงผู้ประกอบเกือบครึ่งเพิ่มราคาสินค้า ลดสวัสดิการ ลดดแรงงาน และหันไปจ้างต่างด้าว เผยค่าแรงขึ้นไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่คิด



หอการค้าไทยชี้หลังปรับค่าแรงผู้ประกอบเกือบครึ่งเพิ่มราคาสินค้า ลดสวัสดิการ ลดดแรงงาน และหันไปจ้างต่างด้าว เผยค่าแรงขึ้นไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่คิด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจสถานภาพธุรกิจไทยในปัจจุบันพบว่า หลังจากปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน ผู้ประกอบการ 47.2% ปรับตัวโดยการเพิ่มราคาสินค้า 34.2% ลดสวัสดิการ 32.1% ลดจำนวนแรงงาน 8.5% ใช้เครื่องจักร และ 7.6% จ้างแรงงานต่างด้าว

ในขณะที่การเยียวยาจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ 94.5% ยังไม่ได้รับ มีเพียง 5.5% ที่ได้รับการเยียวยา ส่วนมาตรการปรับลดภาษีนิติบุคคลผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี

   ด้านนายภูมินทร์ หะรินสุด รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ไม่ได้ส่งผลกระทบให้มีการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากแรงงานไม่ได้ใช้จ่ายเงิน แต่เลือกที่จะเก็บออมมากกว่า เพราะแรงงานยังกังวลถึงความมั่นคงของงานที่ทำอยู่ กลัวว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะประสบปัญหาอยู่ไม่ได้ต้องปิดกิจการ จึงไม่ได้นำรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจับจ่ายใช้สอย

ทั้งนี้ จากเดิมที่คาดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1-1.4% ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นค่าแรง ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย แต่ในความเป็นจริงจีดีพีเพิ่มขึ้นเพียง 0.5-0.7% 

ในส่วนของการติดสมาชิกของหอการค้าใน 7 จังหวัดนำร่อง พบว่า 92% ปรับตัวเรื่องค่าแรงได้แล้ว มีเพียง 7.8% ที่ปรับตัวไม่ได้ โดยรูปแบบการปรับตัวนั้น 13.25% ปรับตัวด้วยการเลิกจ้างคนงานบางส่วน 36.75% มีการปรับตัวด้านอื่นๆ เช่น ไม่รับแรงงานเพิ่ม ปรับปรุงการบริหารจัดการภายในบริษัท ส่วนอีก 50% ไม่มีการปรับลดคนงาน
 

NEWS & TRENDS