นายประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า ยอดส่งออกสิ่งทอครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่ารวม 2,136.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผ้าผืนส่งออกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าส่งออกสิ่งทอทั้งหมด 688.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเด..
นายประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า ยอดส่งออกสิ่งทอครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่ารวม 2,136.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผ้าผืนส่งออกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าส่งออกสิ่งทอทั้งหมด 688.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 8.36 ตลาดส่งออกผ้าผืนที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนามและเมียนมาร์ ส่วนยอดนำเข้าสิ่งทอ มีมูลค่ารวม 1,861.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผ้าผืนนำเข้ามีมูลค่ารวม 517.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนยอดส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภาพรวมปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่ากับปี 2557 แต่มูลค่ารูปเงินบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่า โดยยอดส่งออกสิ่งทอมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 60 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 เป็นการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม ยอดส่งออกประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นชดเชยยอดส่งออกไปสหรัฐและยุโรปที่ปรับลดลง ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นทรงตัว
นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่นำเข้าวัตถุดิบ เช่น ผ้าผืนเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อส่งออกอีกทอดหนึ่งและส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยที่ขยายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้แข่งขันด้านราคาอีกต่อไป แต่แข่งขันด้วยคุณภาพสินค้า เห็นได้จากผ้าผืนที่ส่งออกมีการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดีขึ้นสามารถขายได้ราคาดีขึ้นด้วย โดยในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมานี้ระดับราคาปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ส่วนแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปี 2559 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยจะส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านในรูปของวัตถุดิบเพื่อผลิตส่งไปขายต่อในตลาดโลกได้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน และผู้ประกอบการไทยปรับมุมมองประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามป็นคู่ค้ามากกว่าเป็นคู่แข่งขันทางการค้า
ส่วนตลาดในประเทศจะได้รับผลดีจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของรัฐบาลผ่านมาตรการต่าง ๆ พร้อมกันนี้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอยังให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ซึ่งบางสินค้ามีความก้าวหน้ามาก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งหุ่มบางรายร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติพัฒนาเสื้อผ้าระดับสูงที่การผลิตที่ประณีต มีราคาสูงขึ้นในประเทศไทย เช่น เสื้อผ้าทีมฟุตบอลดังระดับโลกหลายทีม เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพัฒนาและออกแบบแฟชั่น เทคโนโลยีที่ลูกค้าทั้งในอาเซียนและตลาดโลกเข้ามาเลือกซื้อได้ ขณะเดียวกันสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอยังปรับมุมมองของผู้ประกอบการไทย โดยให้มองว่า ตลาดอาเซียนเป็นตลาดเดียวกันกับตลาดในประเทศ
ที่มา -สำนักข่าวไทย