ครัวเรือนกระอักหนี้ท่วม 2.48 แสนบาท โพลล์หอการค้าชี้หนี้ต่อครัวเรือนสูงสุดในรอบ 10 ปี เผยเป็นครั้งแรกที่สัดส่วนหนี้นอกระบบสูงกว่าในระบบ ชี้ 87% มีปัญหาชำระหนี้ พร้อมกู้แหล่งอื่นโป๊ะ – ปล่อยยึดของ
ครัวเรือนกระอักหนี้ท่วม 2.48 แสนบาท โพลล์หอการค้าชี้หนี้ต่อครัวเรือนสูงสุดในรอบ 10 ปี เผยเป็นครั้งแรกที่สัดส่วนหนี้นอกระบบสูงกว่าในระบบ ชี้ 87% มีปัญหาชำระหนี้ พร้อมกู้แหล่งอื่นโป๊ะ – ปล่อยยึดของ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ภาครัวเรือนในปี 58 ว่า ครัวเรือนไทยมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 248,004 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 13.16% จากการสำรวจในปี 57 ที่มีหนี้เฉลี่ย 219,158 บาทต่อครัวเรือน แบ่งเป็นหนี้ในระบบสัดส่วน 48.7% และหนี้นอกระบบ 51.3% ซึ่งเป็นปีแรกจากการสำรวจมา 10 ปี ที่สัดส่วนหนี้นอกระบบของครัวเรือนสูงกว่าหนี้ในระบบ รวมทั้งครัวเรือนมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นสูงสุดเช่นกัน
“เป็นการสำรวจครัวเรือน 1,200 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 20-28 ส.ค. 58 พบว่าครัวเรือนกว่า 80.2% มีภาระหนี้สิน ขณะที่อีก 19.8% ไม่มีภาระหนี้สิน โดยจำนวนหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 248,004 บาทสูงสุดตั้งแต่มีการสำรวจมา สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่องมา 3 ปี ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนเปราะบางด้านรายได้ ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมา และสอดคล้องกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ซึ่งอยู่ในระดับสูงที่ 86% ขณะเดียวกันยังพบว่าคนมีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งทุนในระบบไม่ได้ จึงหันไปก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น”
ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าสาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ที่ลดลง รองลงมาเป็นค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น, ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ, มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก, ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน, การผ่อนสินค้ามากเกินไป, หนี้ที่เกิดจากการพนัน และ มีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นมาก
สำหรับความสามารถในการชำระหนี้ในรอบปีที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนเคยมีปัญหาด้านการชำระหนี้มากถึง 87.8% และที่เหลือ 12.2% ไม่เคยมีปัญหาในการชำระหนี้ โดยที่มีปัญหาส่วนใหญ่มีการหยุดชำระหนี้ 1-2 เดือนบ้างแล้วก็หันไปชำระหนี้ต่อในเดือนต่อๆไป อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงๆ พบว่าประชาชน 36.6% จะใช้วิธีการกู้ยืมเงินที่อื่นมาชำระก่อน รองลงมา 31.9% จะใช้วิธีการผ่อนผันเจ้าหนี้ก่อน, 20.7% ปล่อยให้ยึดสิ่งของไป และ 10.8% หลบเจ้าหนี้ เป็นต้น
ส่วนการผ่อนชำระต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 14,033 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.06% ซึ่งเป็นการผ่อนชำระหนี้ในระบบ 10,752 บาทต่อเดือน ลดลง 2.45% มาจากการปรับลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และหนี้นอกระบบ 9,951 บาทต่อเดือนเพิ่มขึ้น 22.79% ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าการผ่อนชำระหนี้นอกระบบมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และใกล้เคียงกับการผ่อนชำระกับหนี้ในระบบ
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในส่วนของนโยบายการจัดสรรเงินกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย 2 ปีนั้น และรัฐบาลได้เปิดช่องให้ประชาชนไปชำระคืนหนี้นอกระบบเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ดีอย่างมากที่จะช่วยให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้ลดภาระการชำระหนี้ แต่ก็อยากให้หน่วยงานภาครัฐให้ความรู้แก่ประชาชนมากขึ้นทั้งการกู้ดอกเบี้ยถูกแล้วไปใช้หนี้ดอกเบี้ยแพง รวมถึงการใช้เงินด้านอื่นๆให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
“เมื่อภาระการจ่ายดอกเบี้ยที่น้อยลงก็เชื่อว่าจะทำให้ครัวเรือนพอมีเงินเหลือในการจับจ่ายมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายจะต้องช่วยเติมความรู้ในเรื่องการวางแผนทางการเงิน เน้นการกู้ยืมเพื่อสร้างรายได้กลับคืนมา โดยเน้นการสร้างอาชีพ สร้างโอกาสในในการหารายได้ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบกลับคืนมา อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าน่าจะทำให้มีหนี้ครัวเรือนคงค้างระดับสูงในระบบต่อเนื่องอีก 2-3 ปี แต่ก็จะส่งผลดีในระยะยาว เพราะคนจะระมัดระวังในการกู้ยืมเงินมากขึ้น” “
ที่มา เดลินิวส์
www.smethaialndclub.com ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)