TMB Analytic เผย 2 กลุ่มธุรกิจเด่นโค้งสุดท้ายปี 58

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “สมคิด” จะผลักดันจีดีพีปี 2558 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 0.3



    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “สมคิด” จะผลักดันจีดีพีปี 2558 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 0.3 คาดว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและซ่อมแซม วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรก่อสร้างและครุภัณฑ์ ร้านค้าปลีกทั่วไป อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องมือการเกษตร ร้านขายปุ๋ยและยาฆ่าแมลง

    ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนโดยต้องการให้เกิดขึ้นภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 วงเงินรวม 1.36 แสนล้านบาท ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมินผลกระทบต่อภาคธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
 
    กลุ่มแรก มาตรการกระตุ้นการบริโภค ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือส่งเสริมความเป็นอยู่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน (ระดับ A และ B) โดยปลอดดอกเบี้ยใน 2 ปีแรก และในปีที่ 3-7 คิดดอกเบี้ยตามต้นทุนการเงินบวก 1.0% ต่อปี วงเงินรวม 6.0 หมื่นล้านบาท โดยผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในข่ายจะได้รับความช่วยเหลือมีจำนวนกว่า 9.5 ล้านราย (75%ของจำนวนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านทั้งหมด) 

    ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมินว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อย่างน้อย 5.4 หมื่นล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 90 ของวงเงินรวม เนื่องจากเป็นการปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้านระดับ A และ B จัดอยู่ในกลุ่มกองทุนที่มีศักยภาพ ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผ่านโครงสร้างการนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์การกู้ยืมและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนของสำนักงานสถิติ พบว่ากลุ่มธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ ได้แก่ ร้านค้าปลีกทั่วไป อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องมือการเกษตร ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง รับเหมาก่อสร้าง/ซ่อมแซม

    กลุ่มที่สอง มาตรการกระตุ้นการลงทุน ได้แก่ มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน เพื่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชน โดยจัดสรรงบประมาณให้ตำบลละ 5 ล้านบาท และมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในโครงการขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 7.6 หมื่นล้านบาท ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมินว่า เม็ดเงินลงทุนดังกล่าวจะเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้อีกกว่า  5.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของวงเงินรวม แม้ว่าในช่วงแรกการอนุมัติอยู่ในขั้นตอนการกำหนดกรอบระเบียบวิธีการเบิกจ่ายวงเงินให้มีระบบตรวจสอบและติดตามได้ โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับอานิสงส์กว่า 1.3 แสนราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง/ซ่อมแซม เหมืองหิน/แร่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรก่อสร้างและครุภัณฑ์

    ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 กลุ่มดังกล่าว ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินจากรัฐเข้าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้ประมาณ 1.06 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 78 ของวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.36 แสนล้านบาท) ซึ่งจากการวิเคราะห์ผ่านตารางปัจจัยการผลิต (Input-Output Table Analysis) คาดว่าจะช่วยผลักดันให้จีดีพีปี 2558 เพิ่มขึ้นได้ประมาณร้อยละ 0.3 
    
    และหากเม็ดเงินดังกล่าวมีการส่งผ่านหมุนเวียนไปยังธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ (Multiplier Effect) คาดว่าจะส่งผลทำให้จีดีพีในปีหน้าสามารถขยายตัวได้อีกร้อยละ 0.3 โดยมาตรการกระตุ้นการลงทุนจะมีน้ำหนักการเพิ่มขึ้นในจีดีพีมากกว่ามาตรการกระตุ้นการบริโภค เนื่องจากโครงการลงทุนต่างๆ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอันเกิดจากซัพพลายเชนในภาคการก่อสร้าง ทำให้มีการจ้างงานในท้องถิ่น เกิดรายได้หมุนกลับมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 

    อนึ่ง ผลประชุม ครม. ล่าสุด (8 กันยายน 2558) มีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินเป็นแกนหลักร่วมกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในการปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นไม้ต่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาก่อนหน้านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ทั้งนี้ ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่นี้จะช่วยผลักดันให้มีเม็ดเงินกระจายเข้าสู่ทุกภูมิภาคอย่างทั่วถึง หากผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี และภาคประชาชนสามารถใช้เม็ดเงินเหล่านี้ต่อยอดธุรกิจหรือสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น คาดว่าการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในปีนี้ “ไม่ใช่เรื่องยาก”

www.smethailandclub.com ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)

NEWS & TRENDS