อุตฯ แนะ SME ไม้ ใช้ดีไซน์เพิ่มมูลค่า

“กสอ.” เปิดเวทีจัดสัมมนาแนะกลยุทธ์เด็ด ดึงกูรูผู้เชี่ยวชาญสร้างฐานความรู้ผู้ประกอบการ มุ่งให้เน้นดีไซน์โดนใจลูกค้าไทย-เทศ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต้นน้ำถึงปลายน้ำ


 
 “กสอ.” เปิดเวทีจัดสัมมนาแนะกลยุทธ์เด็ด ดึงกูรูผู้เชี่ยวชาญสร้างฐานความรู้ผู้ประกอบการ มุ่งให้เน้นดีไซน์โดนใจลูกค้าไทย-เทศ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ตนเองในอนาคต ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเสริมแกร่ง SMEs อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน กรุยทางสู่ตลาด AEC              
 
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “AEC Digest : ย่อยเรื่องยากให้ง่าย ทำเรื่องลึกให้ตื้น ให้อุตสาหกรรมไม้  ผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ตื่นตัวก่อนตกขบวน” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งระบบ  โดยผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันกับการแข่งขันในประเทศอื่น ๆ แม้ว่าอัตราการเติบโตและยอดการส่งออกจะเพิ่มขึ้นแต่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ยังไม่ครอบคลุมในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งไทยจะต้องหันมาเจาะตลาดกลุ่มอาเซียนมากขึ้นเพราะเป็นตลาดที่มีการเติบโตค่อนข้างเร็ว จากปัจจุบันที่ทำตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป เป็นหลัก ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งศึกษาข้อดีและข้อเสียของภาคประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เพื่อนำมาสู่การวางแผนเชิงรุกให้ทันกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 

การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนยังเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการยังเน้นการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก อีกทั้งแหล่งวัตถุดิบในประเทศยังไม่สามารถรองรับกับความต้องการทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งวัตถุดิบใหม่ด้วยการนำเข้าไม้จากต่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีการนำเข้าอยู่ที่ 10 ล้านคิวบิคเมตรต่อปี ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เพื่อขยายตลาดสู่ต่างประเทศ และสามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียน

ด้านนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายจาก กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเดินหน้าส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในการผลิต รวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้ SMEs สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ทันเวลา ซึ่งหากประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการไทยนับว่ายังมีจุดแข็งในด้านของการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ แต่จำเป็นจะต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และการออกแบบที่สามารถตอบสนองลูกค้าในทุกกลุ่ม 

NEWS & TRENDS