นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ประชุมผู้บริหารหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเพื่อจัดทำโครงการนำร่องผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ประชุมผู้บริหารหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเพื่อจัดทำโครงการนำร่องผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยรัฐมนตรีไอซีทีเปิดเผยว่า กระทรวงยังเดินหน้าพิจารณาโครงการนำร่องเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลใน 6 มิติ ที่จะต้องเร่งทำเพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือนนี้และสำหรับการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจะมี 6 กลุ่มสำคัญ ได้แก่
1.กลุ่มการส่งเสริมการสร้างโอกาสในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลประกอบธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs (Digitized SMEs) โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ เช่น ระบบสินค้าคงคลัง และระบบบัญชี ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นของไทยควบคู่กันไปด้วย
2.กลุ่มการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางสังคม (Digital Society) โดยเฉพาะด้านการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในสังกัด เพื่อสนับสนุนการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งนำระบบการเรียนทางไกล เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
3.กลุ่มการปรับเปลี่ยนกระบวนการของภาครัฐในการให้บริการประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (e-Government Service) โดยให้บริการในลักษณะให้บริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One Stop Service)
4.กลุ่มการพัฒนาทุนมนุษย์ หรือบุคลากรด้านดิจิทัล (Digital Workforce) ทั้งในภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน
5.กลุ่มการพัฒนาความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนงานของทุกภาคส่วน (Network Connectivity) อาทิ การนำสายเคเบิลร้อยท่อลงดิน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างคุ้มค่า โดย บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม จะต้องประสานกับทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
และ 6.กลุ่มการดำเนินโครงการสมาร์ทซิตี้ที่จะเกาะไปตามนโยบายซูเปอร์คลัสเตอร์ของภาครัฐ โดยจะนำร่องก่อนที่ภูเก็ตและเชียงใหม่
โดยตั้งเป้าว่าภายในสิ้นเดือนจะสามารถสรุปรายละเอียดโครงการทั้งหมดได้ว่า แต่ละกลุ่มจะมีโครงการใดมาสนับสนุนบ้าง และมีรายละเอียดการลงทุนการดำเนินการอย่างไร รวมแล้วคาดว่ามีทั้งหมดราว 15 โครงการ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์