สภาอุตฯเปิดร้าน 0 บาท ขยะแลกสินค้า

สภาอุตฯผุดร้าน 0 บาท รณรงค์คัดแยกขยะ เปิดให้นำขยะรีไซเคิลมาใช้แทนเงินซื้อสินค้าภายในร้าน หวังช่วยค่าครองชีพ ประเดิมร้านแรกชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่



สภาอุตฯผุดร้าน 0 บาท รณรงค์คัดแยกขยะ เปิดให้นำขยะรีไซเคิลมาใช้แทนเงินซื้อสินค้าภายในร้าน หวังช่วยค่าครองชีพ ประเดิมร้านแรกชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ 

นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) กล่าวว่า TIPMSE ต้องการสร้างความเข้าใจแก่คนไทยในการคัดแยกบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำ “ขยะ” มาเปลี่ยนเป็นเงิน ลดปัญหาค่าครองชีพ และเดินหน้าจัด “ร้าน 0 บาท” โดยมีร้านต้นแบบที่ศูนย์วัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพซาเล้ง ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ 

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มองข้ามความสำคัญและมูลค่าของการจัดการวัสดุรีไซเคิล ซึ่งสามารถแปลงมูลค่าให้เป็นเงินได้ และไปจับจ่ายใช้สอยช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้ ซึ่งปัจจุบันค่าครองชีพเป็นปัญหาที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะสิ่งของอุปโภคบริโภคต่างๆ ล้วนปรับราคาสูงขึ้น ในขณะที่รายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย

ด้านนายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา ผู้อำนวยการสถาบัน TIPMSE กล่าวว่า การดำเนินการ “ร้าน 0 บาท” มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1. เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการใช้วัตถุรีไซเคิลแทนเงินสด 2. เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมองเห็นมูลค่าของวัสดุรีไซเคิล 3. เพื่อรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมที่คนรุ่นใหม่ร่วมใจกันคัดแยกวัสดุรีไซเคิล 

ส่วนนายพีรธร เสนีย์วงศ์ ประธานกลุ่มขยะรีไซเคิลชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ กล่าวว่า ในอดีตคนในชุมชน เคยอยู่อาศัยใต้สะพาน และ เลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะ ซึ่งต่อมาได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องที่อยู่ใหม่จนเกิดเป็นชุมชุนอ่อนนุช 14 ไร่ ซึ่งคนในชุมชนได้นำประสบการณ์จากการเก็บขยะ มาร่วมกันจัดตั้งโครงการสหกรณ์ขยะขึ้น โดยให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิลมาแลกสินค้าของใช้ประจำวันที่ร้านค้าสวัสดิการ โดยมีราคาถูกกว่าท้องตลาด และสามารถประยุกต์ใช้กับโครงการ “ร้าน 0 บาท” ของ TIPMSE ได้ เพราะ ขยะบางประเภท และ วัสดุรีไซเคิล สามารถแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินสดได้ โดยสินค้าที่จำหน่ายภายใน ร้าน 0 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ ร้านต้นแบบโครงการ “ร้าน 0 บาท” มีหลากหลาย ตั้งแต่เป็นร้านค้าถาวร หรือร้านค้าในรูปแบบอื่น โดยแต่ร้านจะพัฒนาให้มีความเหมาะสมกับสภาพของแต่ละชุมชน เพื่อให้เป็นร้านของชุมชนอย่างแท้จริง โดยเริ่มเปิดให้บริการร้านแรก ณ ศูนย์คัดแยกวัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพซาเล้ง อ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ และจะมีการจัดตั้งร้านต้นแบบอีกสองสาขาใน ชุมชนเคหะดินแดง และ ชุมชนวัดกลาง อย่างไรก็ตามหากชุมชนที่มีความสนใจจะดำเนินการสร้างร้าน 0 บาท สามารถติดต่อ TIPMSE เพื่อรับความช่วยเหลือได้ 
 

NEWS & TRENDS