เตือน SME ระวัง Supply Shock อันตรายต่อธุรกิจ

"พัชร สมะลาภา รองเอ็มอี กสิกรไทย เตือนเอสเอ็มอีระวังเจอ Supply Shock ซึ่งถือว่าอันตรายต่อธุรกิจมาก แนะเอสเอ็มอีต้องรู้จักบริหารต้นทุนให้เหมาะสม แต่ชมเอสเอ็มอีไทยปรับตัวเก่งมีความคล่องตัวสูง ทำให้เอาตัวรอดมาได้ทุกวิกฤต

 




"พัชร สมะลาภา รองเอ็มอี กสิกรไทย เตือนเอสเอ็มอีระวังเจอ Supply Shock ซึ่งถือว่าอันตรายต่อธุรกิจมาก แนะเอสเอ็มอีต้องรู้จักบริหารต้นทุนให้เหมาะสม แต่ชมเอสเอ็มอีไทยปรับตัวเก่งมีความคล่องตัวสูง ทำให้เอาตัวรอดมาได้ทุกวิกฤต

การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ต้องลุกขึ้นมาปรับตัวเองครั้งใหญ่ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ เพราะต้องยอมรับว่า “แรงงาน” ถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของกิจการ ดังนั้น เมื่อต้นทุนเพิ่ม โอกาสของการทำกำไรก็ลดน้อยลง จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมช่วงที่ผ่านมาสินค้าหลายๆ ตัวทยอยปรับขึ้นราคา เพราะนั่นคือกลไกทางการตลาด แต่ก็ใช่ว่า ผู้ประกอบการทั้งหมดจะสามารถปรับขึ้นราคาได้ เพราะในภาวะที่การแข่งขันสูง การจะขึ้นราคาในขณะที่คู่แข่งยังคงราคาเดิม จึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เพราะในยุคนี้ใครที่มีต้นทุนต่ำกว่า ย่อมมีโอกาสได้ลูกค้าไปครอง

จากประเด็นของการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทนี้ ในความเห็นของ พัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในครั้งนี้เป็นในรูปแบบของ Supply Shock คือเป็นลักษณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น ต่างจากที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะ Demand Shock คือความต้องการลดลงจากสถานการณ์ใดสถานการ์หนึ่ง เช่น เกิดสึนามิ น้ำท่วม หรือแม้แต่เหตุการณ์ประท้วงก็ดี แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านพ้นไป ความต้องการจะกลับมาเป็นปกติ แต่การปรับขึ้นค่าแรงนั้น โอกาสที่จะกลับไปต่ำเหมือนในอดีตคงไม่มีอีกแล้ว ซึ่งตนเชื่อว่า Supply Shock นี้จะอันตรายกว่า Demand Shock จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องรู้จักการบริหารจัดการต้นทุนของตัวเองอย่างเหมาะสม

“ณ วันนี้ความเสี่ยงของลูกค้าเราเพิ่มขึ้น ต้นทุนของเขาเพิ่มขึ้น กระบวนการทำงานก็ยากขึ้น  อย่างค่าแรง 300 บาท เป็นต้นทุนที่ขึ้นแล้วไม่ลง แต่อย่างราคาน้ำมัน บางครั้งก็มีขึ้นมีลง ฉะนั้นเมื่อเป็นต้นทุนที่ขึ้นแล้วไม่ลง การบริหารจัดการจึงเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักไม่ค่อยมานั่งดูหรอกว่า ต้นทุนของตัวเองไปจมอยู่ที่ตรงไหนบ้าง ส่วนใหญ่จะคิดถึงแต่การหาลูกค้าเข้ามา บางคนยิ่งขายดี ยิ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นๆ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเอาต้นทุนของตัวเองขึ้นมาดู แล้วค่อยๆ ตัดลดในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป เพราะในที่สุดแล้วใครต้นทุนต่ำสุดคนนั้นชนะ”

“เรามีฐานลูกค้าอยู่ 500,000 ราย ถามว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ ก็มีบ้างที่เป็นรายเล็กๆ แต่ก็ไม่มาก ยังไม่มีถึงขั้นล้มหายตายจากไป ผมเองก็ยังแปลกใจ เพราะ SME เราโดนหนักมาเหมือนกัน ตั้งแต่น้ำท่วม มาเจอค่าแรง 300 บาทอีก แสดงว่าความคล่องตัวของผู้ประกอบการมีมาก ซึ่งข้อดีของ SME นั้นก็คือ ความเร็วในการปรับตัว ถ้าปรับตัวเร็ว เวลาเกิดอะไรขึ้นก็มักจะรอด อีกอย่างหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงกันมาก แต่ผมมองว่าเป็นทักษะที่สำคัญมาก นั่นคือ ความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อเกิดอะไรขึ้น ยิ่งเล็ก มักจะโดนก่อน ถ้าเราแก้ไขปัญหาเก่งก็มีโอกาสรอด”
 

NEWS & TRENDS