คลื่นวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปเริ่มซัดเข้าไทย

สศค.เผยวิกฤตยุโรปเริ่มลามเข้าไทยแล้ว หลังตัวเลขส่งออก มิ.ย.ลดฮวบ แถมอินเดียกำลังเจอปัญหาเงินเฟ้อ แต่ยังเชื่อนโยบายรัฐดันเศรษฐกิจโตตามเป้าได้แน่



สศค.เผยวิกฤตยุโรปเริ่มลามเข้าไทยแล้ว หลังตัวเลขส่งออก มิ.ย.ลดฮวบ แถมอินเดียกำลังเจอปัญหาเงินเฟ้อ แต่ยังเชื่อนโยบายรัฐดันเศรษฐกิจโตตามเป้าได้แน่

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปเริ่มจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยบ้างแล้ว สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวในเดือน มิ.ย.55 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรส่งออกไปยังสหภาพยุโรปที่หดตัวในระดับสูง ลบ 17.6% ซึ่งการส่งออกที่ชะลอตัวนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. ที่หดตัวติดลบ 9.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป สศค.ประเมินว่าประเด็นทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองมีอยู่ 2 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดยังคงสะท้อนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มสหภาพยุโรปล่าสุดในเดือน พ.ค.55 ที่หดตัวติดลบ 2.8% และอัตราการว่างงานของกลุ่มสหภาพยุโรปที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.1% และ 2. ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีและอินเดียที่สะท้อนได้จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัว 7.6% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี จากการชะลอตัวของการส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชนเป็นสำคัญ

ขณะที่เศรษฐกิจอินเดียที่กำลังประสบปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงที่ 7.3% อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและเสถียรภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 55 สามารถขยายตัวได้ตามที่ สศค.คาดการณ์เอาไว้ที่ 5.7%

ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า สศค.คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 น่าจะไม่เกิน 3% ทั้งนี้เนื่องจากตัวเลขการส่งออกและดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.55 ต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ขณะที่ไตรมาสที่ 3 และ 4 นั้น คาดว่าจีดีพีน่าจะเติบโตได้ในระดับสูงประมาณ 10% เนื่องจากฐานต่ำในปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ประกอบด้วย การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อที่มีความกดดันลดน้อยลง และการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ
 

NEWS & TRENDS