หวั่นส้มหล่นใส่คู่แข่งไทยเร่งคุยอียูปมตัดสิทธิ์ภาษี

ไทยเดินหน้าเร่งเปิดโต๊เจรจาอียูหลังประเด็นถูกตัดสิทธิพิเศษด้านภาษีในปี 57 บางรายการ ชี้อาจลามโดนทุกรายการในปี 58 ทำไทยสูญกว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หวั่นโดนอินเดีย





ไทยเดินหน้าเร่งเปิดโต๊เจรจาอียูหลังประเด็นถูกตัดสิทธิพิเศษด้านภาษีในปี 57 บางรายการ ชี้อาจลามโดนทุกรายการในปี 58 ทำไทยสูญกว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หวั่นโดนอินเดีย

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้เริ่มดำเนินการตามกระบวนการของมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถเริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ให้ได้โดยเร็วที่สุด หรือต้นปี 2556 โดยคาดว่าจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ภายในเดือน ส.ค.55 เพราะที่ผ่านมากรมฯ ได้เคยมีการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว และมีท่าทีในประเด็นต่างๆ แล้ว เพียงแค่มีการปรับปรุงในส่วนที่มีความสำคัญเร่งด่วนบ้าง ก็สามารถเปิดเจรจากับทางอียูได้เลย

ทั้งนี้ประเด็นที่ไทยจะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกก็คือ การที่อียูจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทยบางรายการในปี 2557 หลังจากที่ได้ปรับเงื่อนไขการของโครงการ GSP ใหม่ และในปี 2558 ไทยอาจถูกตัดสิทธิ์ทั้งประเทศ โดยมีสินค้าที่เข้าข่ายถูกตัดสิทธิ์ในปี 2557 เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร น้ำตาล ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ผัก ผลไม้ ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ และยานยนต์ เป็นต้น สำหรับสินค้ากลุ่มนี้ไทยส่งออกไปอียูมูลค่าเฉลี่ย 1,658.2 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 2.48% ของการส่งออกทั้งหมดไปอียู และการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวใช้สิทธิ์ GSP สูงถึง 59% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปอียู

อย่างไรก็ตาม หากไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP ทั้งประเทศในปี 2558 จะทำให้สินค้าจำนวนที่เหลือไม่สามารถใช้สิทธิ์ GSP ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยเป็นมูลค่า 9,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และการที่ไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP ทั้งประเทศ ยังมีแนวโน้มที่อาจเกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าจากสินค้าของไทยไปยังสินค้าของคู่แข่งที่ยังคงรับสิทธิ์ GSP โดยประเทศคู่แข่งที่มีแนวโน้มจะแย่งส่วนแบ่งตลาดไปจากไทย ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ตามลำดับ

        ในการเจรจา FTA ไทย-อียู กรมฯ พร้อมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเจรจา โดยเฉพาะประเด็นที่ภาคเอกชนมีความกังวล และยืนยันว่าการเจรจาจะมุ่งรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ส่วนสิ่งที่ไทยจะได้จาก FTA ทันที ก็คือ การช่วยรักษาส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยในอียู และยังจะช่วยในการดึงดูดการลงทุนจากอียู เพื่อใช้ไทยเป็นฐานในการลงทุนในอาเซียน เป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทยและคนไทยในการเข้าไปดำเนินธุรกิจในอียูต่อไปในอนาคต ปัจจุบันอียูกำลังเจรจา FTA กับประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และมีแผนที่จะเจรจากับไทย

        สำหรับการตัดสิทธิ์ GSP จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก 1 ม.ค.-31 ธ.ค.57 มีสินค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่าที่กำหนดและจะถูกตัดสิทธิ์ประมาณ 50 รายการ เช่น ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ กล้วยไม้ และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 ม.ค.58 เป็นต้นไป สินค้าที่เหลือจากการถูกตัดสิทธิ์ในช่วงแรกทั้งหมดจำนวน 723 รายการ จะถูกตัดสิทธิ์ทั้งหมด เช่น กุ้ง จักรยาน รองเท้า รถจักรยานยนต์ ปลาหมึก เป็นต้น

 

NEWS & TRENDS