ครม.เห็นชอบปรับเกณฑ์ช่วยเอสเอ็มอีน้ำท่วม พร้อมยืดเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ออกไปอีก 2
ครม.เห็นชอบปรับเกณฑ์ช่วยเอสเอ็มอีน้ำท่วม พร้อมยืดเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ออกไปอีก 2 ปี
นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบในการปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา
โดยมอบหมายให้มีการค้ำประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยธนาคารออมสิน ให้กับ 1.กลุ่มเป้าหมายซึ่ง ได้แก่ ผู้ที่ประกอบธุรกิจทุกประเภทที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือเป็นเอสเอ็มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ที่มียอดคำสั่งซื้อหรือยอดขายกับเอสเอ็มอี ในพื้นที่ประสบอุทกภัยไม่น้อยกว่า 25% โดยต้องมีธนาคารเป็นผู้รับรองและยืนยัน
2.วงเงินค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดทุกประเภทรวมกันไม่เกิน 30% หรือ 30 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน จากเกณฑ์เดิมที่ให้วงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย และ 3.ระยะเวลารับคำขอภายในวันที่ 31 ธ.ค.2556
ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในปี 2554 โดยการสนับสนุนสินเชื่อแบบผ่อนปรนของธนาคารพาณิชย์ยังมีผลการดำเนินงานในการอนุมัติสินเชื่อค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับการสนับสนุนสินเชื่อแบบผ่อนปรนผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน เป็นต้น
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดสรรวงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ในวงเงิน 300,000 ล้านบาท ให้กับธนาคารพาณิชย์ ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 แล้ว ดังนั้นเห็นควรขอความร่วมมือให้สมาคมธนาคารไทยช่วยเร่งรัดธนาคารพาณิชย์ในการอำนวยความสะดวกเพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม (SMEs) และรายย่อย
นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอที่กระทรวงการคลังให้ขยายเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% ออกไปอีก 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2555 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2557 และจะมีการจัดเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอัตรา 9% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2557 เป็นต้นไป
เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554-2555 ซึ่งส่งผลต่ออัตราการบริโภค การลงทุน การส่งออก และการนำเข้าลดลงด้วย จึงให้คงภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% เพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อในการจับจ่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นหลังจากประสบอุทกภัย และเพื่อให้การบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ อันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมั่นคงต่อไป