ซิป้าชี้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย 90ก% เก่งด้านพัฒนา แต่ด้อยการตลาด ซึ่งนับเป็นจุดอ่อน จึงรวม 3 องค์กร เปิดหลักสูตรเน้นสอนด้านการตลาดโดยเฉพาะ หวังช่วยเพิ่มรายได้ 20-30%
ซิป้าชี้ผู้ประกอบการซอฟแวร์ไทย 90ก% เก่งด้านพัฒนา แต่ด้อยการตลาด ซึ่งนับเป็นจุดอ่อน จึงรวม 3 องค์กร เปิดหลักสูตรเน้นสอนด้านการตลาดโดยเฉพาะ หวังช่วยเพิ่มรายได้ 20-30%
นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA กล่าวว่า ธุรกิจซอฟต์แวร์มีโอกาสทางการตลาดเยอะมาก ซึ่งซิป้าได้วิเคราะห์จุดแข็ง, จุดอ่อน, โอกาส และภัยคุกคาม พบว่าตลาดเมืองไทยมีโอกาสมาก จากโครงการแจกแท็บเล็ตเด็ก ป.1 ทำให้ครูและผู้ปกครองตื่นตัวเรื่องเทคโนโลยี ขณะที่ตลาดโมบายแอพพลิเคชั่นตื่นตัวตามมา ล้วนเป็นโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย แต่ต้องมีการตลาดที่ดี เพราะมักสร้างนวัตกรรมจากสิ่งที่อยากทำซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในประเทศไทย 90% จาก 800 ราย รวมฟรีแลนซ์อีกเป็นจำนวนมาก มักให้ความสำคัญกับเรื่องการตลาดน้อยกว่าเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์ เนื่องจากมีความสามารถด้านเทคนิคจึงคิดถึงผลิตภัณฑ์และความต้องการของตนเองก่อน ต่างจากหลักการตลาดที่จะคำนึงถึงผู้ซื้อก่อน ดังนั้นการตลาดจึงถือเป็นจุดอ่อนของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย, ซิป้า และสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกันเปิดตัวโครงการ “ติดอาวุธการตลาดให้ซอฟต์แวร์ไทย” เป็นหลักสูตรการสอนด้านการตลาดให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย แบ่งเป็นหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการและหลักสูตรสำหรับทีมขาย ซึ่งการวัดผลดูจากยอดขายของบริษัทก่อนเข้าร่วมโครงการ เทียบกับหลังจบหลักสูตรของโครงการว่าเพิ่มขึ้นเท่าไร โดยแต่ละบริษัทต้องกำหนดเป้าหมายด้วยตนเอง ซึ่งคาดว่าจะทำให้รายได้เฉลี่ยเติบโตขึ้น 20-30% และได้กรรมวิธีคิดเรื่องการตลาด รวมถึงวิธีการบอกเล่าสินค้าของตนเองด้วย
สำหรับหลักสูตรดังกล่าวนั้น มีการเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการตั้งใจฝึกอบรมมากขึ้น และหลังสิ้นสุดโครงการในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็จะประเมินผล ซึ่งหากประสบความสำเร็จอาจขยายเป็นโครงการคลินิกการตลาดเพื่อผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย โดยให้ผู้ประกอบการที่จบหลักสูตรพบที่ปรึกษาด้านการตลาดได้เป็นรายไตรมาสต่อเนื่อง 3 ปี
สำหรับมูลค่ารวมของซอฟต์แวร์ที่ผลิตในไทยอยู่ที่ 27,000 ล้านบาท แม้ซอฟต์แวร์ไทยจะชนะรางวัลมากมาย แต่สินค้าบางตัวไม่สามารถนำไปขายหรือทำตลาดได้ ขณะที่สิงคโปร์เลือกที่จะไม่ผลิตซอฟต์แวร์ แต่เน้นเป็นผู้ทำการตลาดให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ทำให้ซิป้าสนับสนุนให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมีความรู้ด้านการตลาด เป็นนโยบายสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558