ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดว่าในระยะข้างหน้า อุตสาหกรรมส่งออกอาหารของไทยยังต้องเผชิญความท้าทายจากมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) ซึ่งมาตรการ NTBs ที่นำมาใช้มีหลายรูปแบบ แต่มาตรการ NTBs ที่กระทบต่อการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรของไทยโดยมากจะเป็นในเรื่องของ..
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดว่าในระยะข้างหน้า อุตสาหกรรมส่งออกอาหารของไทยยังต้องเผชิญความท้าทายจากมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) ซึ่งมาตรการ NTBs ที่นำมาใช้มีหลายรูปแบบ แต่มาตรการ NTBs ที่กระทบต่อการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรของไทยโดยมากจะเป็นในเรื่องของสวัสดิภาพแรงงานในการผลิตอาหาร สุขอนามัยของผู้บริโภค และความยั่งยืนทางอาหารและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป ยังคงต้องติดตามหลายมาตรการทางด้านอาหารที่คาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าหลักในหมวดอาหารของไทย ไม่ว่าจะเป็น มาตรการ IUU Fishing ที่ทางสหรัฐฯจะนำมาใช้กับประเทศคู่ค้าสินค้าประมง โดยมีขอบเขตที่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานสินค้าประมงมากกว่า IUU's regulation ของ EU เช่น ครอบคลุมการเพาะเลี้ยงกุ้งหากปลาป่นที่ใช้เป็นอาหารกุ้งมาจากการทำประมงผิดกฎหมาย หรือฉลากสินค้าอาหารทะเลต้องตรงกับสินค้าข้างในที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย (Seafood fraud) ทั้งนี้มาตรการ IUU Fishing ของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระหว่างการจัดเก็บข้อมูลและเพิ่งเสร็จสิ้นการทำประชาพิจารณ์ ทำให้ยังไม่มีความแน่ชัดในรายละเอียดรวมไปถึงบทลงโทษทางกฎหมาย
อีกหนึ่งมาตรการที่คาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกอาหารของไทย คือ การห้ามใช้ไขมันทรานส์ (Trans-fat หรือ Partially Hydrogenated Oils: HPOs) ในอาหารแปรรูปทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ผลิตภายในประเทศหรืออาหารที่นำเข้ามาจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯให้ระยะเวลาผู้ผลิตในการปรับตัวเป็นระยะเวลา 3 ปี และจะเริ่มบังคับใช้มาตรการนี้ในปี 2561
ในขณะเดียวกัน EU ก็อยู่ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาหยิบยกมาตรการห้ามใช้ไขมันทรานส์ขึ้นมาเป็นกฎระเบียบของ EU ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ผลิตเพื่อการส่งออกทั้งในเรื่องของการปรับเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบที่ปราศจากไขมัน ทรานส์ซึ่งมีราคาสูงกว่า เช่น เนยแท้ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการขนส่งและการเก็บรักษาเนื่องจากการใช้เนยแท้ในอาหารแปรรูปอาจจะส่งผลต่ออายุการเก็บรักษาอาหารที่สั้นลง
ทั้งนี้ มาตรการทางอาหารที่หยิบยกมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการ NTBs ที่คาดว่าจะเข้ามากระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ซึ่งก็ยังมีประเด็นที่ยังคงต้องติดตามต่อไป ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตและความแน่ชัดของการบังคับใช้มาตรการเหล่านี้ รวมไปถึงบทลงโทษทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการส่งออกอาหารไทยสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรการ NTBs ได้ก็จะช่วยสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออกของไทยได้ในระยะยาว และจากจุดแข็งของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารไทยที่ได้รับการยอมรับในเรื่องมาตรฐานการผลิตและคุณภาพวัตถุดิบ น่าจะทำให้ผู้ประกอบการส่งออกอาหารไทยสามารถปรับตัวรับมือได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)