"สมคิด" ย้ำยุโรปซึมยาวแนะไทยเลิกพึ่งส่งออก

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ย้ำวิกฤตยุโรปลากยาว 4-5 ปี เตือนไทยเลิกพึ่งแต่ส่งออก หันมาสร้างสมดุล เพิ่มรายได้ให้รากหญ้ายั่งยืน ปฏิรูปภาคเกษตร ชี้นโยบายส่วนใหญ่ช่วยเหลือได้แค่ครั้งคราว มีแต่ทำให้คนไทยจนหนักกว่าเดิม

 


สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ย้ำวิกฤตยุโรปลากยาว 4-5 ปี เตือนไทยเลิกพึ่งแต่ส่งออก หันมาสร้างสมดุล เพิ่มรายได้ให้รากหญ้ายั่งยืน ปฏิรูปภาคเกษตร ชี้นโยบายส่วนใหญ่ช่วยเหลือได้แค่ครั้งคราว มีแต่ทำให้คนไทยจนหนักกว่าเดิม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง"การสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศในทศวรรษหน้า" โดยระบุว่า ปัญหายุโรปจะยืดเยื้อไปอีก 4-5 ปี ส่งให้ตลาดหุ้นผันผวนเตือนนักลงทุนระวัง  ขณะเดียวกันมองส่งออกไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า แนะเลิกเหวี่ยงแห กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะสนับสนุนและพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกหลักให้ชัดเจน และต้องสร้างสมดุลระหว่างการส่งออกกับเศรษฐกิจในประเทศ 

จากวันนี้ถึงวันข้างหน้า การรักษาความมั่งคั่งของประเทศถือเป็นเรื่องยาก ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะมีปัญหาต่อเนื่องไปอีก 4-5 ปี ถือว่าอยู่ในจุดเสี่ยง โดยมองว่าวิกฤติยุโรปอาจจะต้องใช้เวลาฟื้นตัว 4-5 ปี เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากเรื่องความกลัว การขาดความมั่นใจทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่แท้จริงของยุโรป ดังนั้น ผู้เล่นหุ้นต้องระวังความผันผวนที่เกิดขึ้นด้วย 

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาไทยเน้นการส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ขณะนี้เครื่องจักรการส่งออกเริ่มอ่อนแรง และเข้าสู่วัฏจักรการส่งออกที่อ่อนแอในระยะข้างหน้า ดังนั้น ไทยต้องเร่งสร้างสมดุลระหว่างส่งออก และการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ แต่เนื่องจากประชากรไทยยังยากจน  จึงต้องเร่งทำให้รากหญ้ามีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น โดยการปฏิรูปภาคการเกษตรอย่างจริงจัง ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่นโยบายการอุดหนุน เช่น การจำนำข้าว การประกันรายได้ ที่ถือเป็นการช่วยเหลือเป็นครั้งคราว ไม่ได้เปลี่ยนให้เกิดพลังการผลิตของประเทศเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะยิ่งทำจะยิ่งทำให้คนไทยจนลงอีก 

ฉะนั้น ต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างการผลิตใหม่ๆ เพิ่มมูลค่า  โดยทั้งหมดต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้มีการปรับแผนเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ระดับชุมชนเชื่อมต่อระดับโลก นอกจากนี้ จะต้องมีการกระจายอำนาจการบริหารประเทศ จัดทำเป็นคลัสเตอร์ และวางโครงสร้างพื้นฐาน เช่นการเป็นศูนย์กลางการศึกษา การท่องเที่ยว การลงทุน ไม่ได้มุ่งเน้นให้กรุงเทพ เป็นศูนย์กลางของทุกอย่างเพียงอย่างเดียว 

ส่วนการส่งออก ควรที่จะมีการกำหนดจะส่งเสริมอุตสาหกรรมใดในอีก 10-20 ปีข้างหน้า โดยจัดทำเป็น National Strategy เน้นเรื่องนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพราะปัจจุบันสินค้าที่ใช้ผลิตไม่ได้มีราคาถูก และยังใช้เทคโนโลยีที่ต่ำอีก 

นายสมคิดกล่าวถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 ว่า ไม่ควรมองถึงความพร้อมของประเทศ แต่ให้มองว่าประเทศจะได้รับความประโยชน์สูงสุด สร้างความสำคัญของประเทศในเวที AEC ซึ่งไทยถือว่ามีทำเลที่ตั้ง ได้เปรียบหลายประเทศ และมากที่สุดในอาเซียน จึงควรจะนำข้อได้เปรียบเหล่านี้มาสร้างความสำคัญเหมือนที่พม่า หันมาเล่นการเมืองระดับโลก จนทำให้ทั่วโลกมองพม่ามีความโดดเด่น 

"เราต้องหันมาเล่นการเมืองระดับโลก ไม่ใช่เล่นการเมืองระดับประเทศ เพื่อต่อสู้กันในประเทศ ตอนนี้มีทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่หันมาเล่นการเมืองระดับโลก ขณะที่ไทยมีความได้เปรียบด้าน Location มากที่สุด ควรที่จะต้องนำสิ่งเหล่านี้มาใช้"นายสมคิดกล่าวและว่า

    ในส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี มองว่าเป็นหน้าที่ที่ส่วนราชการที่ต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับ AEC และควบคู่ไปกับการช่วยเหลือภาคเอกชน ต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาส

NEWS & TRENDS