ส.อ.ท.ติงรัฐให้ข้อมูลเท็จ SME เดือดร้อน

ส.อ.ท.เผยรัฐโกหกเป้าส่งออกบริษัทใหญ่ไม่กระทบ แต่กระทบเอสเอ็มอี เพราะส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลอ้างอิงจากรัฐบาล แนะรัฐอย่ายึดตึดตัวเลข รับฟังเสียงเอกชนบ้าง

ส.อ.ท.เผยรัฐโกหกเป้าส่งออกบริษัทใหญ่ไม่กระทบ แต่กระทบเอสเอ็มอี เพราะส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลอ้างอิงจากรัฐบาล แนะรัฐอย่ายึดตึดตัวเลข รับฟังเสียงเอกชนบ้าง

  นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับภาคเอกชนที่ค้าขาย และเป็นผู้ส่งออกการประกาศเป้าหมายการส่งออก การปรับลดตัวเลขการส่งออก หรือการส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่ต้องการข้อมูลที่เป็นความจริง เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมให้ถูกวิธี

ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัทขนาดใหญ่นั้นไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่มีสถิติเป็นของตัวเอง แต่เอสเอ็มอียังต้องอ้างอิงข้อมูลของรัฐบาล รวมถึงการประมาณการแนวโน้มของรัฐบาลในการทำแผนธุรกิจ หากรัฐบาลบอกแนวโน้มดี ภาวะตลาดดี ผู้ประกอบการจะเร่งผลิต เก็บสต็อก ซึ่งหากให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงก็จะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ และรัฐบาลก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือเอง

“รัฐบาลต้องอย่าไปยึดติดกับตัวเลข ประกาศเป็นแนวทางได้ แต่ก็ต้องปรับเพิ่ม ลด ได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ความผิด เพราะเอกชนก็เข้าใจและรู้อยู่แล้วในฐานะที่เป็นพ่อค้าเอง และการประเมินของรัฐส่วนใหญ่จะดูจากสถิติเก่า ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว เช่น ไทยมีต้นทุนสูงขึ้น ขีดความสามารถลดลง และขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นจึงใช้ตัวเลขในอดีตมาประเมินไม่ได้” นายธนิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องการให้รัฐบาลเร่งทำหน้าที่สนับสนุนการส่งออกของภาคเอกชน โดยรับฟังความเห็นจากเอกชนให้มาก และเร่งปรับกลยุทธ์ให้ทันกับเหตุการณ์

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกไม่ถึงเป้าหมาย 15% เอกชนประเมินกันมานานแล้ว และเข้าใจว่ารัฐบาลยืนยันเป้าหมายเพราะเป็นเรื่องทางการเมือง แต่เมื่อสถานการณ์ฝืนต่อไปไม่ได้ก็ต้องออกมายอมรับ เพราะไม่อย่างนั้นรัฐบาลจะดูเหมือนคนไม่มีความรู้ ซึ่งเอกชนก็ไม่ได้ว่ากัน และรู้ว่าพูดไปอย่างนั้น

ทั้งนี้ ผลที่เกิดขึ้นจะสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อรัฐบาล และก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งต้องอย่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ เพราะเป้าหมายการส่งออกเป็นตัวเลขพยากรณ์ สามารถปรับเปลี่ยนและผิดได้ แต่ต้องรีบออกมายอมรับและเร่งหาทางแก้ไขดีกว่ามายื้อเอาไว้

“จะมายอมรับตอนนี้ก็ช้าไปแล้ว นักธุรกิจ เอกชน เค้าก็รู้สถานการณ์กันอยู่ จะอ้างว่าเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ก็คงไม่ใช่ ซึ่งครั้งนี้ก็ถือเป็นบทเรียนของรัฐบาลอีกหน่อยถ้ารู้ว่าผิดก็รีบบอก ไม่มีใครว่า”นายพรศิลป์ กล่าว

สำหรับตัวเลข 9% ของรัฐบาล ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งต้องคอยจับตาดูเดือนนี้ว่ายอดการส่งออกจะถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือไม่ หากไม่ถึง การส่งออกคงเติบโตน้อยลงไปกว่านี้ 

NEWS & TRENDS