"โสฬส" ฟ้องบอร์ด SME Bank อ้างคำสั่งไม่ชอบ

"โสฬส" ยื่นศาลปกครองฟ้องบอร์ด SME Bank ใช้คำสั่งโดยมิชอบ ด้านบอร์ดเชื่อไม่น่าฟ้องได้ เหตุสัญญาจ้างไม่ได้เป็นข้าราชการ พร้อมยืนยันหลักฐานแน่ ทำธนาคารเสียหายจริง

 

 
"โสฬส" ยื่นศาลปกครองฟ้องบอร์ด SME Bank ใช้คำสั่งโดยมิชอบ ด้านบอร์ดเชื่อไม่น่าฟ้องได้ เหตุสัญญาจ้างไม่ได้เป็นข้าราชการ พร้อมยืนยันหลักฐานแน่ ทำธนาคารเสียหายจริง 
 
นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ (ธพว.) เปิดเผยว่า นายโสฬส สาครวิศว อดีตกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ ที่ถูกคณะกรรมการของธนาคารมีคำสั่งเลิกจ้างไปเมื่อก่อนหน้านี้นั้น ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้คำสั่งเลิกจ้างของกรรมการไม่ชอบ และให้ยกเลิกคำสั่ง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการยังไม่ได้รับหมายศาลจากศาลปกครอง ซึ่งคณะกรรมการติดตามอยู่ว่าทางศาลปกครองจะรับฟ้องหรือไม่
 
"คณะกรรมการทราบว่า นายโสฬสยื่นฟ้องศาลปกครองแล้ว แต่ศาลยังไม่ได้พิจารณารับฟ้อง ซึ่งกรรมการดูแล้วว่าไม่น่าจะฟ้องได้ เพราะนายโสฬสทำงานในลักษณะสัญญาว่าจ้างไม่ได้เป็นข้าราชการ" นายนริศ กล่าว
 
นายนริศ กล่าวอีกว่า ได้เตรียมรับมือกับนายโสฬส ตั้งแต่ก่อนจะลงมติเลิกจ้างแล้ว เพราะเชื่อว่า นายโสฬส จะดำเนินการฟ้องศาลแรงงาน และศาลแพ่งกับกรรมการของธนาคารต่อไป แต่กรรมการมีหลักฐานเอกสารจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่พบว่า การบริหารของอดีตกรรมการผู้จัดการมีความบกพร่องทำเกินอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ จนทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย
 
สำหรับการแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ของธนาคารที่มีจำนวนมากปัจจุบันประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท หรือ 15-18% ของหนี้ทั้งหมด ได้สั่งให้คณะกรรมการฟื้นฟูเร่งสรุปแผน เพราะหนี้เสียของธนาคารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมามีการบันทึกหนี้เสียต่ำกว่าความเป็นจริง
 
นายนริศยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ธนาคารยังมีปัญหาจะถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการปรับปรุงสำนักงานสาขา เนื่องจากไม่มีการเปิดประมูลทำให้ถูกมองว่ามีการฮั้วว่าจ้าง และมีคนไปร้องเรียนเรื่องนี้กับดีเอสไอ ซึ่งหากพบว่ามีมูล ผู้ที่เกี่ยวข้องธนาคารก็จะถูกดำเนินคดีต่อไป
 
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2555 คณะกรรมการธนาคารได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการเลิกจ้าง นายโสฬส เนื่องจากพบว่าผลสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อชะลอเลิกจ้าง ระบุว่ามีการปล่อยสินเชื่อเกินกว่าที่ได้รับการอนุมัติ มีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ออกคำสั่งแก้ไขสาระสำคัญ จนทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายจากดอกเบี้ยที่ควรได้รับ แต่ไม่ได้รับ เป็นอัตราขั้นต่ำถึง 311 ล้านบาท
 
โดยมติการเลิกจ้างดังกล่าวมีผลทันที และไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งให้นายโสฬสรับทราบก่อนล่วงหน้าโดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ และหลังจากนี้จะมีการตรวจสอบความเสียหายทั้งหมด เพื่อดำเนินการเอาผิดทางแพ่งกับนายโสฬส เพื่อให้มีการจ่ายชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับธนาคาร ส่วนการเอาผิดทางอาญาอาจต้องมาพิจารณาดูอีกทีว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริงหรือไม่
 
    ทั้งนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการสอบข้อเท็จจริง ระบุว่า นายโสฬส ปล่อยสินเชื่อชะลอเลิกจ้างเกินที่กำหนดไว้ให้ปล่อย 7 พันล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติปล่อยไปถึง 2.2 หมื่นล้านบาท โดยมีการเซ็นสัญญาแล้ว 1.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีการเบิกเงินกู้ไปแล้ว 1.4 หมื่นล้านบาท ทำให้ธนาคารเสียหาย 311 ล้านบาท ไม่รวมกับความเสียหายจากเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นอีกราว 1.1 พันล้านบาท หรือ 7.99% โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจะตรวจสอบเรื่องการตบแต่งบัญชี การบันทึกลูกหนี้เอ็นพีแอลต่ำกว่าความเป็นจริง และเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เอ็นพีแอลไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อชะลอเลิกจ้าง
 

NEWS & TRENDS