ส.อ.ท.เสนอรัฐแก้กฎหมายหนุนไทยสู้ AEC

ส.อ.ท.เตรียมเสนอรัฐแก้กฎหมาย เผยมีหลายฉบับต้องปรับปรุงเร่งด่วน เพราะไม่ทันสถานการณ์ปัจจุบัน

 


ส.อ.ท.เตรียมเสนอรัฐแก้กฎหมาย เผยมีหลายฉบับต้องปรับปรุงเร่งด่วน เพราะไม่ทันสถานการณ์ปัจจุบัน 

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.จะเสนอรัฐบาลให้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่มีใครให้ความสำคัญมากนัก แต่ ส.อ.ท.เห็นว่ามีกฎหมายหรือยกร่างใหม่หลายฉบับที่ควรปรับปรุงเร่งด่วน เพราะไม่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายไปแล้ว 100 ฉบับ แต่คงไม่สามารถแก้กฎหมายทุกฉบับได้จึงได้ศึกษาฉบับที่มีความสำคัญเร่งด่วนเพื่อเสนอให้รัฐบาลนำไปดำเนินการ

ภาคเอกชนได้ศึกษากฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วน 37 ฉบับ โดยกฎหมายที่มีความสำคัญและเร่งด่วนที่สุด และต้องการให้ปรับปรุงหรือยกร่างขึ้นมามี 4 ฉบับ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าและการลงทุน คือ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกฎหมายกลุ่มนี้ต้องการให้ปรับปรุงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเงินทุนและทุนหมุนเวียน และลดปัญหาการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

2.กฎหมายส่งเสริมกระบวนการผลิต คือ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ให้ชัดเจน โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่รัฐสภาในรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้รับรองจึงทำให้กฎหมายตกไป

ทั้งนี้ สำหรับร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ต้องการให้มีกฎหมายมากำหนดให้มีการนำทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันการทำสัญญาทางธุรกิจได้ เช่น เงินฝากในสถาบันการเงิน สินค้าในคลังสินค้า ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนทางธุรกิจ และจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับเอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น รวมทั้งร่างกฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้คู่สัญญาตกลงกันเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายเป็นอุปสรรคในการทำข้อตกลงทางธุรกิจ

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ต้องการให้กำหนดบทลงโทษให้เหมาะสม โดยแยกฐานความผิดที่ไม่มีเจตนาเลี่ยงภาษีออกจากความผิดฐานเลี่ยงภาษี ซึ่งปัจจุบันการเลี่ยงภาษีมีโทษปรับ 4 เท่าของราคาสินค้ารวมกับภาษี หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำและปรับ รวมทั้งให้ยกเลิกการให้เงินสินบนและรางวัลนำจับเพราะเป็นประเด็นที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ถ้าจำเป็นก็คงไว้เฉพาะกรณีที่มีเจตนาเลี่ยงภาษี และภาระการพิสูจน์ที่ปัจจุบันให้ผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ความผิดของตัวเอง โดยตรงข้ามกับกฎหมายอาญาที่ให้ผู้กล่าวหาเป็นผู้พิสูจน์ความผิด จึงควรยึดหลักพิสูจน์ตามกฎหมายอาญา

NEWS & TRENDS