​สรรพากรแจงระบบออกใบกำกับภาษีแก้ข้อสงสัย SME

ตามที่ได้มีพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมาจดแจ้งเป็นผู้ประกอบการจัดทำบัญชีชุดเดียว ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาการจดแจ้งไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 นั้น




    ตามที่ได้มีพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมาจดแจ้งเป็นผู้ประกอบการจัดทำบัญชีชุดเดียว ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาการจดแจ้งไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 นั้น

   ปรากฏว่า มีผู้มาจดแจ้งจำนวนเกินกว่า 4 แสนราย โดยมีผู้ประกอบการที่เป็น SMEs เข้าร่วมจดแจ้งเป็นจำนวนมาก และกรมสรรพากรได้รับคำถามเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในใบกากับภาษีแบบเต็มรูปเป็นจำนวนมากว่า ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ยอมบอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ทำให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ นั้น

    กรมสรรพากรขอเรียนชี้แจงว่า ถึงแม้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะไม่ยอมบอกเลขประจำตัว ผู้เสียภาษีอากร ผู้ขายหรือผู้ให้บริการก็สามารถออกใบกำกับภาษีได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป จึงขอประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้

    1.ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไว้ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เฉพาะกรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ถ้าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการก็ไม่จำเป็นต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นไว้ในใบกำกับภาษีแต่อย่างใด

    กรณีผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนได้แจ้งให้ลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแจ้งรายการเกี่ยวกับเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร โดยวิธีปิดเป็นประกาศ หรือแจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นการทั่วไปหรือเป็นรายบุคคล หรือแจ้งโดยวิธีการอื่นใดแล้ว เช่น ข้อความที่ปิดประกาศในสถานประกอบการ หนังสือแจ้งลูกค้ารายบุคคล หรือข้อความประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์หรือบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด 
    
    หากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้แจ้งรายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรให้ทราบ หรือแจ้งว่าไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการได้ออกใบกำกับภาษีโดย ไม่ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไว้ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ถือได้ว่าผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการมิได้มีเจตนาที่จะออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีรายการไม่ครบถ้วนตามกฎหมายแต่อย่างใด

    2. ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและรายการสถานประกอบการที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการของตนเอง เมื่อมีการซื้อสินค้าหรือรับบริการ เพื่อผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะได้ระบุรายการดังกล่าวให้ครบถ้วนใน ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ถ้าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นมิได้แจ้งรายการดังกล่าวและได้รับ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปซึ่งไม่มีรายการดังกล่าวนั้น ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นก็จะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่สามารถนำไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร และถ้าการที่ไม่ได้แจ้งรายการดังกล่าวนั้นมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรก็จะต้องรับผิดตามกฎหมายต่อไป

    3.กรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ไม่ต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตนเองให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการแต่อย่างใด

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



NEWS & TRENDS