“สมคิด” ชูลู่ทางเศรษฐกิจอีสานสดใส เหตุพื้นที่ขนาดใหญ่ ประชากรมากที่สุดในประเทศ ทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุน ย้ำบทบาททำงานช่วง 6 เดือนทุ่มงบประมาณพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากต่อเนื่อง เล็งนำเงินสะสมท้องถิ่น ก.มหาดไทยกว่า 60,000 ล้านบาท จัดสรรให้ อ..
“สมคิด” ชูลู่ทางเศรษฐกิจอีสานสดใส เหตุพื้นที่ขนาดใหญ่ ประชากรมากที่สุดในประเทศ ทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุน ย้ำบทบาททำงานช่วง 6 เดือนทุ่มงบประมาณพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากต่อเนื่อง เล็งนำเงินสะสมท้องถิ่น ก.มหาดไทยกว่า 60,000 ล้านบาท จัดสรรให้ อปท.หวังกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้คึกคัก
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสานมีโอกาสและอนาคตที่สดใสมาก จากพื้นที่มากที่สุดของประเทศ มีประชากรมากที่สุด จึงเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุน วันนี้มีกลุ่มธุรกิจจากจีน, เกาหลี และญี่ปุ่น สนใจมาลงทุน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนจะต้องเข้าไปหารือกำหนดกรอบแนวทางการทำงานร่วมกัน
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจอีสานจะตกต่ำลงจากราคาสินค้าเกษตร แต่ในแง่มูลค่าค้าขายชายแดนของภาคอีสานกลับมากที่สุดในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการค้าไทยและลาวที่มากถึง 200,000 ล้านบาท การเปิดประชาคมอาเซียนเป็นโอกาสที่ทุกประเทศจ้องมองและสนใจเข้ามาลงทุนในภาคอีสานมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้แรงงานของภาคอีสานที่สามารถพัฒนา แสดงถึงศักยภาพของฝีมือแรงงานไทยได้อย่างดีที่สุด
“สมคิด” ยาหอมเศรษฐกิจอีสานไปโลด เล็งจัดสรรงบประมาณกระตุ้นฐานราก
ที่น่าสนใจจีนขอทำหน้าที่เป็นธนาคารให้กับประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเรื่องนี้มีการหารือและพูดคุยกัน ซึ่งรัฐบาลไทย โดยกระทรวงพาณิชย์มีความพร้อมที่จะจัดตั้งกองทุนและจะเริ่มดำเนินการในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อให้อาเซียนมีกองทุนค้าขายได้อย่างอิสระไม่ผูกขาดกับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด โดยไทยขอเป็นแกนหลักที่สำคัญในการดำเนินการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวนี้ขึ้นมา
นายสมคิดกล่าวต่อว่า บทบาทการทำงานในช่วง 6 เดือนที่เข้ามาทำงานเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างฐานรากให้ยั่งยืน โดยทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก อาทิ อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 SMEs ขณะนี้อนุมัติงบประมาณไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ได้สร้างผู้นำที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ มีการต่อยอดนำผลิตผลทางการเกษตรหรือผลผลิตในชุมชน เข้าสู่กระบวนการแปรรูปหรือช่องทางตลาดสมัยใหม่
ขณะเดียวกัน ผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่ลงสู่เศรษฐกิจฐานราก จนถึงขณะนี้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ทั้งเงินกองทุนหมู่บ้านภาพรวมทั้งประเทศ 60,000 ล้านบาท การลงทุนในโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท และการสนับสนุนโครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เน้นหนักไปในฐานราก อีกโครงการละ 1 ล้านบาท โดยนำไปสร้างฝายเก็บน้ำ สร้างยุ้งฉางเก็บผลผลิต ถือเป็นการก่อสร้างที่เป็นไปตามความต้องการประชาชน
อย่างไรก็ตาม เตรียมประสานงานไปยังกระทรวงมหาดไทย ที่จะนำเงินสะสมของท้องถิ่นที่มีอยู่กว่า 60,000 ล้านบาท จัดสรรให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. กระตุ้นสภาพคล่องทางเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่รัฐบาลจะกระตุ้นสภาพคล่องในระดับชุมชนเพิ่มขึ้นด้วย
ที่มา www.mgronline.com