รัฐห่วงเปิดเออีซี SME ไทยโดนต่างชาติฮุบ

พลังงานห่วงเอสเอ็มอีไทยหลังเปิดเออีซี ชี้ไม่แกร่งพอ โดนต่างชาติฮุบแน่นอน

 


พลังงานห่วงเอสเอ็มอีไทยหลังเปิดเออีซี ชี้ไม่แกร่งพอ โดนต่างชาติฮุบแน่นอน

    นายวีระวัฒน์ จันทนาคม ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาความพร้อมของประเทศไทยด้านพลังงานเพื่อก้าวสู่ยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ว่า การเปิดเออีซีในปี 2558 จะเกิดภาระกับภาคผู้ประกอบการต้องแข่งขันสูง เนื่องจากภาษีนำเข้าจะกลายเป็น  0 สำหรับประเทศสมาชิกเออีซี นอกจากนี้ ต่างชาติยังสามารถเข้ามาถือหุ้นในกิจการคนไทยได้ถึง 70% ของบริษัท จากปัจจุบันที่ไทยกำหนดไว้เพียงแค่ 49% เพื่อป้องกันไม่ให้ต่างชาติฮุบกิจการของไทยคน 

    ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ไม่มีความพร้อมทั้งด้านคุณภาพสินค้า แรงงาน และไม่สามารถแสวงหาโอกาสจากเออีซีได้จะต้องปิดกิจการไป และยังจะเกิดการหลั่งไหลของสินค้านานาประเทศเข้ามา ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกซื้อได้หลากหลายทั้งด้านราคา สินค้าและคุณภาพ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทย เนื่องจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยังด้อยกว่าต่างชาติ ทำให้การแข่งขันและพัฒนาธุรกิจเติบโตช้า จนอาจเป็นช่องทางให้ต่างชาติฮุบกิจการได้ในอนาคต

    “เอสเอ็มอีต้องเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน  และช่วยกันผลักดันยกระดับสินค้าในประเทศเพื่อนบ้านให้เท่ากับไทย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้ภาครัฐช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น” นายวีระวัฒน์กล่าว 

    นายวีระวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของพลังงานนั้น หลังการเปิดเออีซีแล้ว ความต้องการใช้พลังงานจะสูงขึ้นมาก จากการเข้ามาลงทุนธุรกิจอย่างเสรี ดังนั้น แผนเร่งด่วนที่ภาครัฐกำลังดำเนินการคือให้ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เข้าลงทุนพัฒนาแหล่งก๊าซนาทูน่าในประเทศอินโดนีเซียในสัดส่วน 15% และให้ ปตท.เร่งเชื่อมโยงโครงข่ายก๊าซธรรมชาติระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งให้ ปตท.ลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันพร้อมตั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์มในกัมพูชา ลาว และพม่า เป็นต้น 
    
ทั้งนี้ ในวันที่ 10-14 ก.ย.2555 จะมีการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จะมีการพูดคุยกันเรื่องการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าถึง 8 โครงการ และจัดตั้งคณะทำงานประสานงานด้านถ่านหินระหว่างกันด้วย. 
 

NEWS & TRENDS