ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผยดัชนีความสามารถแข่งขันของเอสเอ็มอีไตรมาสแรก พบว่า ยอดขายและรายได้ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง หรือลดลง 40.3% ตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาดานผลสำรวจเศรษฐกิจภูมิภาคครึ่งปีแรก คนส่วนใหญ่มองยังไม่ฟื้นตัว เหตุเจอทั้งภัยแล้ง ส่งออกลด หนี้เพิ่ม แต่ยังดีที่..
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผยดัชนีความสามารถแข่งขันของเอสเอ็มอีไตรมาสแรก พบว่า ยอดขายและรายได้ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง หรือลดลง 40.3% ตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาดานผลสำรวจเศรษฐกิจภูมิภาคครึ่งปีแรก คนส่วนใหญ่มองยังไม่ฟื้นตัว เหตุเจอทั้งภัยแล้ง ส่งออกลด หนี้เพิ่ม แต่ยังดีที่มองว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้น แนะรัฐอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าดัชนีความสามารถแข่งขันของเอสเอ็มอีไตรมาสแรก พบว่า ยอดขายและรายได้ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง หรือลดลง 40.3% ตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ยังเชื่อว่าทั้งปีจะได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยผู้ประกอบการ 46.3% มองว่ายอดขายและรายได้ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด อีก 34.4% มองว่ายอดขายและรายได้ยังไม่ฟื้นตัว มีเพียง 19.2% เท่านั้นที่เห็นว่าฟื้นตัว และยังมองอีกว่า อาจจะมีเอสเอ็มอีที่ต้องปิดตัวไปพอสมควร จากการไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดขายและรายได้เอสเอ็มอีไม่ฟื้นตัว เพราะไม่ปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงทำให้ยอดขายลดลง 31.7% แต่ก็พร้อมที่จะปรับตัว เพื่อลดผลกระทบ ด้วยการหันมาใช้ใช้ช่องทางออนไลน์ทำตลาดมากขึ้น ปรับโครงสร้างใหม่ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่มากขึ้น ทำให้เชื่อว่าครึ่งปีหลังนี้ รายได้จะฟื้นตัวดีขึ้น จากมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกมาตรการ ทำให้มองว่าจีดีพีของเอสเอ็มอีปีนี้จะโตได้ถึง 3.9% มาจากธุรกิจขนาดเล็ก 4.3% และธุรกิจขนาดกลาง 3%
ส่วนผลการสำรวจเศรษฐกิจภูมิภาคครึ่งปีแรก และประมาณการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคปี 2559 ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว เพราะมีปัจจัยลบ ทั้งปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบทำให้เงินหายไปจากระบบ 120,000 ล้านบาท การส่งออกติดลบ เงินหายไปมากกว่า 200,000 ล้านบาท ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลงไปกว่า 400,000 ล้านบาท จนทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และนำไปสู่การก่อหนี้มากขึ้น
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา ถือว่ามาถูกทาง ทุกมาตรการได้ผลหมด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นภัยแล้ง ส่งออกลด หนี้เพิ่ม มันซึมลึกเกินกว่าที่มาตรการกระตุ้นจะเข้าไปดันให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้ เหมือนบ่อมันลึก ถมดินลงไปน้อย ยังไงก็ไม่รู้สึก จึงทำให้ภาพหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังดีที่ว่าคนส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะดีขึ้น แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่รู้สึกก็ตาม”
ทั้งนี้ จากการสำรวจ พบว่า ภาคตะวันออกฟื้นตัวได้ดีกว่าภาคอื่นๆ จากการขนส่ง การท่องเที่ยว ค้าส่งและค้าปลีก ขณะที่ภาคใต้ ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด จากราคายางที่สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 40 บาท เป็น 60 บาท ส่วนภาคอื่นๆ ฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ศูนย์ฯ มองว่า เศรษฐกิจไทยทั้งปีน่าจะโตได้ 3% และยังไม่ปรับเป้าหมายดังกล่าว ส่วนการส่งออกคาดว่า โต 0.8% อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.4% โดยภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นปัจจัยบวกหลักต่อเศรษฐกิจภูมิภาค โดยเฉพาะการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การค้าชายแดน การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องจับตาปัจจัยลบ คือ ภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนที่สูง สถาบันการเงินยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า แต่ถ้ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังออกมาชัดเจน ก็จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากให้คะแนนรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรวมให้ 7.5 คะแนน เต็ม 10 คะแนน เพราะรัฐบาลมีโจทย์ที่ยากในการทำงาน
ที่มา www.mgronline.com