ดีเดย์ กม.หลักประกันธุรกิจ 2 ก.ค.นี้ ยังต้องลุ้น "เอสเอ็มอี" ฝันค้างนำ "กิจการ-สินค้าคงคลัง" เป็นหลักทรัพย์ขอสินเชื่อ รอพาณิชย์คลอดเกณฑ์ปฏิบัติ เผยอยู่ระหว่างออกกฎหมายลูก 16 ฉบับ
ดีเดย์ กม.หลักประกันธุรกิจ 2 ก.ค.นี้ ยังต้องลุ้น "เอสเอ็มอี" ฝันค้างนำ "กิจการ-สินค้าคงคลัง" เป็นหลักทรัพย์ขอสินเชื่อ รอพาณิชย์คลอดเกณฑ์ปฏิบัติ เผยอยู่ระหว่างออกกฎหมายลูก 16 ฉบับ
ชี้โจทย์ใหญ่ประเมินมูลค่ากิจการ
นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ก.ค. 2559 นี้จะมีการเพิ่มหลักประกันการชำระหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้สถาบันการเงินประกอบด้วย กิจการ, สิทธิเรียกร้อง,เครื่องจักร, สินค้าคงคลัง, วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า, ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เป็นต้น โดยการเพิ่มหลักประกันใหม่เหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการสะดวก ในการนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขออนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงิน
ขณะนี้ยังติดปัญหาเรื่องวิธีการคำนวณการตั้งสำรองหนี้สูญของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะการคำนวณ "มูลค่ากิจการ" ที่ผู้ประกอบการจะนำมาใช้เป็นหลักประกันขอสินเชื่อแบงก์ซึ่งเป็นเรื่องยาก ขณะที่ทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันตามกฎหมายนี้ ส่วนใหญ่สามารถกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติได้แล้ว เช่น สินค้าคงคลัง มีมูลค่าเท่าไรก็หักเท่านั้น ยิ่งเงินฝากยิ่งง่าย เสียหายเท่าไรก็หักเท่านั้น หรือสิทธิเรียกร้องซึ่งสามารถโอนให้กันได้ ที่ยากคือ "การตีมูลค่ากิจการ" ที่จะคิดอย่างไร เช่น ผู้ประกอบการมีเครื่องจักรนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากวันหนึ่งแบงก์ยึดเครื่องจักร กิจการนี้จะเหลือมูลค่าเท่าไหร่ จึงคาดว่าช่วงแรกจะยังไม่มีการรับมูลค่ากิจการมาใช้เป็นหลักประกัน และคงต้องเพิ่มเติมเกณฑ์บางอย่างเพื่อรองรับหลักประกันนี้เข้าไปใน พ.ร.บ.ด้วย
ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ธปท.จะออกแนวปฏิบัติเพื่อรองรับ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจฉบับนี้ ซึ่งคาดว่า
ทยอยออกมาก่อนเดือน ก.ค.นี้ สำหรับกระบวนการระหว่างนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้อง ออกหลักเกณฑ์สำคัญ ๆ เช่น การประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่จะนำมาเป็นหลักประกัน ซึ่งต้องมีการประกาศรายชื่อผู้ประเมินหลักประกันว่ามีใครทำได้บ้าง ส่วน ธปท.ก็ต้องออกประกาศมาเสริมที่กระทรวงพาณิชย์ทำออกมา
"กฎหมายนี้ก็ ช่วยให้เอสเอ็มอีที่อาจไม่มีที่ดินหรืออาคารมาเป็นหลักประกัน สามารถใช้กิจการมาเป็นหลักประกันขอสินเชื่อได้ ส่วนการประเมินมูลค่าก็ต้องค่อย ๆ พัฒนากันต่อไป ก็ยอมรับว่ามูลค่าของหลักประกันแบบใหม่นี้ย่อมมีอัตราความเสี่ยงที่แตกต่าง ไปจากหลักประกันที่คุ้นเคย ซึ่งในช่วงแรก ๆ ก็ต้องคำนวณจากข้อมูลในอดีตมาใช้เปรียบเทียบไปก่อน" นายรณดลกล่าว
ชี้แบงก์เสี่ยง "ตั้งสำรอง" เพิ่ม
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงินธปท. กล่าวว่า ความท้าทายหลัก ๆ คือ วิธีคำนวณการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญของสินทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำ ประกันที่เป็นจุดที่ดูกันอยู่ ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา มูลค่ากิจการ สิทธิเรียกร้อง และตราสารหนี้ เนื่องจากแบงก์พาณิชย์ยังไม่เคยทำมาก่อนและปัจจุบันยังไม่มีกฎที่ใช้ประเมิน มูลค่าสินทรัพย์กลุ่มนี้ ซึ่งที่ผ่านมาธปท.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือน ก.ค.นี้
ขณะที่นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่าเนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีอย่างนี้มาก่อนแบงก์ต่าง ๆ ก็ต้องปรับตัว ต้องให้ความรู้กับฝ่ายสินเชื่อ ซึ่งก็เริ่มเห็นแล้ว โดยหลักการคือต้องดูงบการเงินของธุรกิจเป็นสำคัญว่ามีหนี้สิน ทรัพย์สินเท่าไร และหากเกิดหนี้เสีย แบงก์ก็เข้าไปยึดสินค้าคงคลังหรือหลักประกันเหล่านี้ได้
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเอสเอ็มอี 2.4 ล้านราย เข้าถึงบริการทางการเงินเพียง 7 แสนราย และยังมีอีก 2 ล้านรายที่ต้องไปพึ่งพาเงินนอกระบบ ดังนั้นกฎหมายนี้ก็น่าจะทำให้การดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีสะดวกขึ้น ขณะที่ให้อำนาจแบงก์เข้าไปยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันได้เร็ว ดังนั้นแบงก์ก็อาจไม่ต้องไปคุมมาก แต่ต้องรู้ว่ามีสินค้าอยู่จริง มีทรัพย์สินค้ำประกันจริง และงบการเงินไม่มีปัญหา
"หากเกิดผิดนัด ชำระเป็นหนี้เสียต้องยึดหลักประกันมาขายทอดตลาด แต่ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของทรัพย์สิน อาจต้องตั้งสำรองสูง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การตั้งสำรอง ซึ่งก่อนกฎหมายบังคับใช้ ธปท.ก็คงจะออกหลักเกณฑ์มา" นายบุญทักษ์กล่าว
ขณะที่นายธวัชชัย ยงกิตติกุล ที่ปรึกษาสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ความพร้อมยังไม่ครบ และยังมีขั้นตอนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะต้องแจ้งให้มาขึ้นทะเบียนหลัก ประกัน ต้องมีการตั้งมาตรฐานการตีราคาหลักประกัน เช่น ต้องมีหน่วยงานที่คล้าย ๆ กรมที่ดิน ที่จะตรวจสอบได้ว่าทรัพย์สินที่นำมาจำนองกับแบงก์หนึ่งแล้วนำไปจำนองกับ แบงก์อื่นหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินไม่มีตัวตน เช่น สิทธิเรียกร้อง ทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตาม หลักประกันที่พร้อมก็สามารถขึ้นทะเบียนและตีราคาไปก่อนได้
แบงก์รอเคาะวิธีประเมินทรัพย์สิน
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แบงก์เริ่มเตรียมพร้อมแล้ว โดยเฉพาะในแง่ของการติดต่อประสานงานกับลูกค้าเก่า ที่เคยขอสินเชื่อกับธนาคารให้เข้ามาทำสัญญาใหม่ หากต้องการขอกู้สินเชื่อโดยใช้หลักประกันใหม่ตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีมีโอกาสได้สินเชื่อเพิ่มขึ้น
ขณะนี้ธนาคารรอ ผลสรุปจาก ธปท. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ การประเมินมูลค่าหลักประกันที่นำมาขอสินเชื่อ ว่าสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นสินเชื่อได้เท่าใด รวมถึงการคำนวณการตั้งสำรอง หากเกิดการผิดนัดชำระว่าต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นหรือไม่
"ตอนนี้มีหลายด้านที่ต้องขอความชัดเจนจาก ธปท. คือทั้งในส่วนสต๊อกว่าความถี่ในการเข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้รู้สต๊อกสินค้ามีจริง หรือต้องมีไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ รวมถึงการคำนวณตั้งสำรอง การประเมินมูลค่าสินค้าคงคลัง หากเอามาประเมิน เราจะแปรเป็นสินเชื่อเท่าไหร่ พวกนี้เราประเมินเองไม่ได้" นายพัชรกล่าว
นายวิพล วรเสาหฤท ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไม่ต้องเปลี่ยนวิธีการคำนวณมากนัก เนื่องจากการให้สินเชื่อของธนาคารเดิมก็ต้องประเมินจากสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงสินค้าคงคลัง ใบแจ้งราคาสินค้าอยู่แล้ว แต่กฎหมายฉบับนี้ออกมาเป็นการเพิ่มน้ำหนักของหลักทรัพย์ให้มีมูลค่าขึ้น ซึ่งมีผลต่อการขอสินเชื่อที่อาจเพิ่มขึ้นได้
ส่วนการตั้งสำรองก็น่า จะเป็นการตั้งสำรองปกติ หากเกิดหนี้เสีย เพราะสินค้าคงคลังต่าง ๆ ก็ถือเป็นหลักทรัพย์เหมือนกับหลักทรัพย์อื่น ๆ ส่วนการยึดสินค้า กฎหมายก็เปิดโอกาสให้แบงก์สามารถเป็นผู้ยึดสินค้าได้ แต่วิธีการยึดก็ต้องมาหารือกันว่าจะทำอย่างไร
เร่งคลอด กม.ลูกอีก 16 ฉบับ
นายสำรวย แดงด้วง รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อบังคับใช้กฎหมายหลักประกันธุรกิจที่จะมีผลบังคับใช้ ในเดือนกรกฎาคม 2559 นี้ ขณะนี้กรมได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถาบันทางการเงินเพื่อสรุปแบบฟอร์มการขอจดทะเบียนหลักประกันทาง ธุรกิจผ่านทางสถาบันทางการเงิน คาดว่าจะสรุปแบบฟอร์มได้เร็ว ๆ นี้ เนื่องจากยังติดในบางประเด็นเท่านั้นที่ธนาคารให้ความเห็นมา
นอกจาก นี้ กรมได้จัดสรรเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานในส่วนของการจดทะเบียนหลักประกันธุรกิจ ประมาณ 10 คน ภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่อาจไม่เพียงพอเพราะต้องรองรับการเข้ามาใช้บริการจากทั่วประเทศ ทางกรมขอบุคลากรเพิ่มประมาณ 90 คน
ส่วนกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องขณะนี้เช่น กฎหมายเรื่องการคิดค่าธรรมเนียมอีก 2 ฉบับ อยู่ระหว่างหารือกับกฤษฎีกา คาดว่ามีข้อสรุปเร็วนี้ ๆ ขณะที่กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องอีก 16 ฉบับ กรมอยู่ระหว่างการพิจารณา และเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคาดว่าจะทยอยประกาศออกมาเรื่อยๆ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์