คลังวางแผนออกมาตรการอุ้ม SME ขนาดเล็ก

คลังวางแผนออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรอบใหม่ เสริมแกร่งด้านการแข่งขันสู่ AEC หลังพบเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 3 ล้านราย เป็นผู้ประกอบการห้องแถวและวิสาหกิจชุมชนเกือบ 2.7 แสนราย อีก 3 แสนรายเป็นเอสเอ็มอีตัวจริง พร้อมหนุนกองทุนหมู่บ้านและออมสินลุยสินเชื่อรายย่อย


คลังวางแผนออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรอบใหม่ เสริมแกร่งด้านการแข่งขันสู่ AEC หลังพบเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 3 ล้านราย เป็นผู้ประกอบการห้องแถวและวิสาหกิจชุมชนเกือบ 2.7 แสนราย อีก 3 แสนรายเป็นเอสเอ็มอีตัวจริง พร้อมหนุนกองทุนหมู่บ้านและออมสินลุยสินเชื่อรายย่อย

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในอนาคตมาตรการต่างๆ ของกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี จะพุ่งไปที่เอสเอ็มอีที่มีขนาดเล็ก เช่น ธุรกิจห้องแถวและวิสาหกิจชุมชนที่มีรวมกันมากกว่าประมาณ 2.7 ล้านราย จากจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 3 ล้านรายในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลใหม่ที่จะใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยในอนาคต เพื่อรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 58

“อดีตที่ผ่านมากระทรวงการคลังมักจะผลักดันให้ธนาคารเฉพาะกิจออกมาตรการต่างๆ เป็นจำนวนมากเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่ก็มักใช้ไม่ได้ผลทำให้การพัฒนาและการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้นไม่ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา จึงสั่งให้มีการรวบรวมข้อมูลและมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันมาเทียบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 4 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ยางพารา รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์” นายอารีพงศ์ กล่าว

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นแม้จะมีสัดส่วนการส่งออกไม่มาก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือยานยนต์ แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอมีการว่าจ้างงานแรงงานจำนวนมากที่สุดใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องของแรงงานที่จะตกงานมากขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติยุโรป กระทรวงการคลังจึงได้ไปหารือกับภาคเอกชนและสถาบันการเงินว่ากลุ่มเอสเอ็มอีจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะอัตราการจ้างแรงงานมีมากที่สุด

“โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งจะต้องมีสัดส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ใกล้เคียงกับภาคผลิตภาพต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายประเทศ (จีดีพี) ความหมายคือทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยที่เติบโตได้ประมาณ 5% ของจีดีพี มาจากภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการขนาดใหญ่ เช่น การเงิน การท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละภาคธุรกิจก็ยังแบ่งแยกย่อยลงเป็นขนาดเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศ คือโรงงานห้องแถว และเกษตรกรรายย่อย เป็นต้น

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่กระทรวงการคลังรวบรวมพบว่าผลผลิตที่สร้างจีดีพีให้แก่ประเทศไทยทุกวันนี้ มาจากบริษัทที่มีขนาดใหญ่ถึงประมาณ 63% มีเพียงประมาณ 37% เท่านั้นที่มาจากธุรกิจเอสเอ็มอี แต่มีการว่าจ้างแรงงานสูงถึงประมาณ 80-90% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ ลักษณะโครงสร้างผลผลิตเช่นนี้เองทำให้ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังไม่สามารถยกระดับเอสเอ็มอีให้มีขนาดใหญ่โตขึ้นมาได้ จึงจำเป็นต้องวางแผนโดยออกมาตรการใหม่ที่จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีสัดส่วนประมาณ 50% เท่ากับผู้ประกอบการรายใหญ่

“เราวางเป้าหมายไว้ว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องมีความแข็งแกร่ง และสามารถขยายธุรกิจเพื่อรองรับกับอนาคตที่กำลังเกิดขึ้นได้ ถ้านับจำนวนบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีเพียงประมาณ 500 บริษัท มีจ้างงานแค่ส่วนเดียวเท่านั้น ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีอยู่ถึงประมาณ 3 ล้านรายทั่วประเทศ ที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะขุดเจาะในรายละเอียดว่าเอสเอ็มอีเหล่านนี้ มีหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทนิติบุคคลไม่ถึงประมาณ 300,000 รายที่เหลือกว่าประมาณ 2.7 ล้านราย เป็นผู้ประกอบการประเภทบุคคล เช่น ร้านขายก๋วยเตี๋ยว หาบเร่แผงลอย ธุรกิจห้องแถว โรงกลึง เป็นต้น และอีกประมาณ 70,000 รายเป็นวิสาหกิจชุมชน” นายอารีพงศ์ กล่าว

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า เครื่องมือทางด้านเงินที่จะใส่เข้าไปใหม่ในรอบนี้ต้องมีความเข้าใจถึงตัวผู้ประกอบการด้วย เพราะถ้าพูดถึงเอสเอ็มอีก็จะบอกว่าเป็นบริษัทที่มีผลผลิตขนาดเล็กจะให้สถาบันการเงินเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อ แต่หน้าตาไม่ใช่อย่างที่พูด เพราะเป็นของจริงมีอยู่เพียงประมาณ 300,000 ราย ส่วนที่เหลือคือกลุ่มที่สถาบันการเงินเข้าไปไม่ถึงเช่นวิสาหกิจชุมชนก็ต้องใช้เครื่องมือกองทุนหมู่บ้าน หรือสถาบันการเงินชุมชนของธนาคารออมสิน


 

NEWS & TRENDS