6 เดือนแรกปีนี้ ไทยกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของเวียดนามในกลุ่มประเทศอาเซียน

ความร่วมมือทางธุรกิจ ไทย-เวียดนาม เพื่อความแข็งแกร่งและความสำเร็จร่วมกัน ในโอกาสครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต


ความร่วมมือทางธุรกิจ ไทย-เวียดนาม เพื่อความแข็งแกร่งและความสำเร็จร่วมกัน ในโอกาสครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต


นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า  ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2555 มีบทบาทด้านส่งเสริมความสัมพนธ์ทางการค้าและการลงทุน และเร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางธุรกิจและขยายโอกาสการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนาม และมีพันธกิจในการสนับสนุนส่งเสริมให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยและเวียดนาม ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี พ.ศ.2563

ในช่วงเวลา 6 เดือนแรกของปีนี้ ไทยกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของเวียดนามในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยมูลค่าการส่งออก 5.67 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทย-เวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ เติบโตประมาณ 7% ต่อปี สำหรับในด้านการลงทุนนั้น ลำดับมูลค่าการลงทุนทางตรงในเวียดนามของไทยอยู่อันดับที่ 11 ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 8,079.16 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในปลายปี 2558) 


สำหรับ มูลค่าเงินลงทุนทางตรงของไทยส่วนที่เพิ่มขึ้นใหม่ระหว่าง 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่อันดับที่ 7 มีมูลค่า 391 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกเหนือจากกลุ่มซีพี ที่เข้าไปสร้างอาณาจักรอาหารสัตว์ในเวียดนามตั้งแต่ปี 2533 ยังมีบริษัทไทยขนาดใหญ่ อีกหลาย บริษัทลงทุนในเวียดนาม เช่น

-    ลงทุนในกิจการ Metro โดยกลุ่มเบอร์ลี่ยุคเกอร์กว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ
-    ลงทุนในกิจการ Big C โดยกลุ่มเซ็นทรัลกว่า 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ
-    กลุ่มปูนซีเมนต์ไทยลงทุนในเวียดนามหลายโครงการ มูลค่ารวมประมาณ 860 ล้านเหรียญสหรัฐ
-    สิงห์ เอเซียโฮลดิ้ง เครือบริษัทบุญรอดบริเวอรี่ ลงทุนในหุ้นเมซานกรุ๊ปราว 25% มูลค่ารวมกว่า 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
-    กลุ่มอมตะคอร์ปอเรชั่น จะลงทุนนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 2 ชื่อ อมตะเอ็กซ์เพรสซิตี้ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ
-    บริษัท ปูนซิเมนต์นครหลวง ลงนามลงทุนในหุ้น 65% ในโฮลซิม(เวียดนาม) มูลค่าประมาณ 524 ล้านเหรียญสหรัฐ
-    ธุรกิจไทยจะเข้าไปลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่องเช่น กลุ่มปตท.มีแผนลงทุนโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมี มูลค่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มปูนซีเนต์ไทยมีแผนลงทุนโรงงานปิโตรเคมี มูลค่า 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มธนาคารไทย เช่น ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น
-    ธุรกิจไทยขนาดกลางและขนาดย่อมจะเข้าไปลงทุนในเวียดนามอีกมาก โดยสภาธุรกิจฯ จัดทำโครงการพี่จูงน้อง เพื่อเป็นพี่เลี้ยงสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนระหว่างเวียดนามและไทย 

-    สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมกาลงทุน (BOI) จะส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำในเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการลงทุนของบริษัทไทยในเวียดนามและช่วยอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนเวียดนามที่ต้องการมาลงทุนในไทย และช่วยเป็นคนกลางในการเจรจาแก้ปัญหาทางธุรกิจระหว่างรัฐบาลของเวียดนามและไทย

ภาครัฐและเอกชนไทยจะจัดตั้งทีม Thailand Plus ประกอบด้วยท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนาม เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐและประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนามเป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน เพื่อร่วมหารือกันสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน หากมีประเด็นที่สมควร ก็จะนำเสนอให้รัฐบาลสองประเทศได้พิจารณา 

จุดมุ่งหมายของสภาธุรกิจไทย-เวียดนามในการสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนาม คือ
-    ยกมาตรฐานคุณภาพสินค้าเวียดนามให้สูงขี้นเพื่อให้เวียดนามสามารถส่งออกไปทั่วโลกได้มากขึ้น
-    ส่งเสริมบริษัทท้องถิ่นของคนเวียดนามให้ส่งสินค้าและอาหารมาขายในประเทศไทยมากขึ้น สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ร่วมกับฝ่ายพาณิชย์ของสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย จัดงานแสดงสินค้าขึ้นระหว่าง 11-14 สิงหาคม 2559 ที่เซ็นทรัลเวิล์ด
-    ส่งเสริม SME จากเวียดนามที่เป็นผู้ผลิตสินค้าให้จับคู่ธุรกิจกับ SME ไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน
-    ส่งเสริมชาวเวียดนามให้เข้าใช้บริการรักษาพยาบาลในไทย เนื่องจากโรงพยาบาลของไทยมีมาตรฐานสูง และจะสนับสนุนโรงพยาบาลไทยไปเปิดสาขาในเวียดนาม

สมาชิกของสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม มีแผนงานและกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเวียดนามมากมาย อาทิ เช่น
-    กระทรวงการต่างประเทศไทยและบริษัทเอกชนไทย ซึ่งเป็นสมาชิกสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ร่วมกันบริจาคเงิน 100,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยเหลือชาวเวียดนามที่ประสบภัยแล้งและขาดแคลนน้ำใช้อุปโภคบริโภค
-    บริษัทสมาชิกสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม จะมอบทุนการศึกษา 4,000 ทุนให้นักศึกษาชาวเวียดนามที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
-    บริษัทสมาชิกสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม จะสร้างงานให้แก่ชาวเวียดนามเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ตำแหน่ง

ในภาคบ่ายจะมีการจัดสัมมนาในเรื่อง Unleash potential and enhance connectivity towards reaping benefits from FTAs” และในภาคค่ำ มีจัดงานสังสรรค์ระหว่างนักธุรกิจไทยและเวียดนาม เพื่อเป็นการแนะนำคณะกรรมการสภาธุรกิจไทย-เวียดนามชุดปัจจุบันและสร้างเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจจากไทยและเวียดนาม โดยงานสังสรรค์จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์
            
ทางด้าน นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัลและธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัล เวียดนาม กล่าวว่า ประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนล้วนมีความแข็งแกร่งทางธุรกิจในรูปแบบของตน ที่สามารถต่อยอดและเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันได้ โดยเล็งเห็นว่าประเทศเวียดนาม เป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้องที่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่คล้ายคลึงกับคนไทย ทำให้สามารถสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจที่มีอยู่ให้ก้าวไกลและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นร่วมกันได้

กลุ่มเซ็นทรัล เวียดนาม ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 เริ่มต้นรุกตลาด สปอร์ต รีเทล (Sport Retail) เปิดตัวร้าน ซูเปอร์สปอร์ต (Supersports) แห่งแรกในเวียดนาม ด้วยพื้นที่กว่า 450 ตร.ม. ที่ห้างสรรพสินค้า Vincom Center Ba Trieu ห้างหรูอันดับหนึ่งของกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม รวมทั้งร้านคร๊อคส์ (Crocs) และ ร้าน             นิวบาลานซ์ (New Balance) ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 26 สโตร์ แบ่งเป็น ร้านซูเปอร์สปอร์ต 11 สโตร์ ร้านคร๊อคส์ 9 สโตร์ นิวบาลานซ์ 5 สโตร์ และสปีโด้ (Speedo) 1 สโตร์

ต่อมาใน ปี 2557 กลุ่มเซ็นทรัลได้สร้างความฮือฮากับวงการค้าปลีกด้วยการเปิด ห้างสรรพสินค้าโรบินส์  จำนวน 2 สาขา คือ สาขาฮานอย และ สาขาโฮจิมินห์ซิตี้ หวังเจาะประชากรเวียดนามที่มีกว่า 90 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด ซึ่งมีกำลังซื้อสูงประมาณร้อยละ 60 โดย สาขาฮานอย เปิดเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 57 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 10,000 ตร.ม. บริเวณชั้นบี 1 ของโรยัลซิตี้ เมืองฮานอย ซึ่งเป็นเมกะมอลล์ขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุด ต่อมาในเดือนธันวาคม 57 ได้เปิดห้างสรรพสินค้าโรบินส์สาขาที่ 2  ณ กรุงโฮจิมินต์ ซิตี้  มีพื้นที่ 12,000 ตรม. งบลงทุน 130 ล้านบาท และเปิดร้าน มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ (Marks & Spencer Stores) กรุงโฮจิมินต์ ซิตี้  เช่นกัน

ช่วงเดือน มกราคม 2558 กลุ่มเซ็นทรัล ได้รับโอกาสอันดีทางธุรกิจร่วมกันกับบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของเวียดนาม “เหงียน คิม  เทรดดิ้ง”  ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์อันดับ 1 ของเวียดนาม ทำให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนทักษะทางค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ ประเทศเวียดนาม รวมทั้งเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ ลานชี มาร์ท (Lanchi Mart) ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในเวียดนามเหนือ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2538 

ล่าสุดเดือน เมษายน ปี 59 กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับ กลุ่มเหงียนคิม ประกาศซื้อกิจการ บิ๊กซี เวียดนาม อย่างเป็นทางการ Big C ตัวอักษร C มาจากคำว่า Central เพราะกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้ริเริ่มแบรนด์นี้ขึ้นมาเอง โดยการเข้าซื้อกิจการบิ๊กซี เวียดนาม มีมูลค่า 920 ล้านยูโร มีทั้งสิ้น 43 สาขา แบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต  33 สาขาและ  คอนวีเนี่ยนสโตร์ 10 สาขา เสริมทัพความยิ่งใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัลในการลงทุนในประเทศแถบเอเชีย ด้วยการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดให้แข็งแกร่งบนพื้นฐานของสินค้าเวียดนามที่ถูกใจผู้บริโภคชาวเวียดนาม และในช่วงเดือน พฤษภาคม ปี 2559 เข้าซื้อกิจการ ซาโลร่า เวียดนาม และ ไทย (Zalora) ผู้นำด้านออนไลน์แฟชั่น อย่างเป็นทางการอีกด้วย

ด้วยนโยบายของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มเซ็นทรัล เวียดนาม เรามีความมุ่งมั่นทีจะช่วยเหลือและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวเวียดนาม ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ อาทิ การให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน ด้วยการสร้างห้องสมุดโรงเรียน และการจัดหาไฟฟ้าให้กับครอบครัวที่ยากจน ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจากกลุ่มเหงียนคิมที่จัดหาน้ำสะอาดให้กับเด็กนักเรียนยากจน, การให้การช่วยเหลือด้านอาหารและสุขภาพยามเกิดภัยพิบัติต่างๆ ของบิ๊กซี เวียดนาม ภายใต้โครงการ Big Community , การสร้างห้องเรียนให้กับนักเรียนในกรุงฮานอย เพื่อพัฒนาโอกาสทางด้านภาษาและวัฒนธรรมไทย รวมทั้งมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียนที่ด้อยโอกาสภายใต้การดำเนินโครงการของห้างสรรพสินค้าโรบินส์ เป็นต้น

ความสำเร็จของธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล เวียดนาม อยู่บนพื้นฐานของการเติบโตและพัฒนาไปพร้อมๆ กับประเทศเวียดนามที่มีความเจริญทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นในการคัดสรรสินค้าคุณภาพเยี่ยม  ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้บริโภค โดยกลุ่มเซ็นทรัล เวียดนาม มุ่งมั่นที่จะสรรสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศเวียดนามตลอดไป


NEWS & TRENDS