ดีแทค-กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมผลักดันโครงการ Smart Farmer สนับสนุนภาครัฐเดินหน้าสู่โมเดล 'ประเทศไทย 4.0'
ดีแทค-กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมผลักดันโครงการ Smart Farmer สนับสนุนภาครัฐเดินหน้าสู่โมเดล 'ประเทศไทย 4.0'
บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าโครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Smart Farmer ติดอาวุธให้เกษตรกรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดสินค้าเกษตร เน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ และการสร้างเครือข่าย ตั้งเป้าหนุนให้ประเทศไทยติดอันดับผู้นำด้านเทคโนโลยีเกษตร (Agriculture Tech หรือ Agri Tech)

นางสาวภาณี บุณยเกื้อกูล ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมมือกับดีแทคและรักบ้านเกิด จัดการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อสรรหาเกษตรกรต้นแบบที่มีศักยภาพ ในปี 2557 ทางกรมฯ มีนโยบายในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer ซึ่งสอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายหลักของดีแทค จึงได้ต่อยอดขยายความร่วมมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร นวัตกรรมการเกษตร รวมถึงองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์อื่นๆ จึงได้มีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการพัฒนาเกษตรกร โดยกรมฯ จะสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อเกษตรกรและกลุ่ม/องค์กรเกษตรกร เพื่อให้ดีแทคดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้กับเกษตรกร รวมไปถึงการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ด้วย”

นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จ.ราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “กรมส่งเสริมการเกษตรและดีแทค ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรการอบรม ‘การเกษตรเชิงพาณิชย์’ ให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างทักษะของเกษตรกรสู่ความเป็น Smart Farmer รวมไปถึงการพัฒนาช่องทางรูปแบบการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียและโมบายแอปพลิเคชั่น รวมไปถึงการพัฒนาการตลาดสินค้าเกษตรผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ โดยจัดให้เกษตรกรเข้าอบรมครั้งละ 30 คน ในหลักสูตรประกอบด้วย 1. การปรับกระบวนการความคิด วิเคราะห์ปัญหา 2. การทำบัญชี การคำนวณต้นทุน และ 3. ความสำคัญของ ICT ซึ่งแบ่งออกเป็น 3.1 แหล่งเรียนรู้การเกษตรออนไลน์ (Agriculture Hub) ให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งความรู้แบบ one stop service และ 3.2 การทำการตลาดสินค้าเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์”


“เนื่องจากในปัจจุบัน คนหันมาให้ความสนใจในเรื่องของสตาร์ทอัพ ธุรกิจเกิดใหม่ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งมีนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเติบโตอย่างก้าวกระโดด เราจึงมีการวางโรดแมพเพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตร หรือ Agri Tech ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการแก้ปัญหาสำคัญทางการเกษตร หรือการสร้างธุรกิจใหม่ทางด้านการเกษตร ตัวอย่างเช่น บริษัท Techfarm ที่คิดค้นอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในฟาร์ม หรือ Freshket แหล่งรวมซัพพลายเออร์ของสำหรับร้านอาหารที่นำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ในอนาคตอันใกล้นี้ ดีแทคมีแผนที่จะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่าง Agri Tech กับ Smart Farmer ที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถนำความรู้ทางการเกษตรที่มีอยู่ผสานกับเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยให้วิทยาการด้านการเกษตรของไทยกลายเป็นผู้นำแนวหน้าของโลก ซึ่งจะเป็นการช่วยผลักดันโมเดล “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล ที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value- Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในที่สุด” นางอรอุมากล่าวสรุป