ยอดประกันภัยพิบัติพุ่ง 1.4 หมื่นล้าน

คปภ.เผยยอดขายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ จากบริษัทประกันวินาศภัยจำนวน 46 บริษัท รวมทั้งสิ้น 165,333 กรมธรรม์ มีทุนประกันภัยพิบัติ จำนวน 14,419 ล้านบาท

 


คปภ.เผยยอดขายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ จากบริษัทประกันวินาศภัยจำนวน 46 บริษัท รวมทั้งสิ้น 165,333 กรมธรรม์ มีทุนประกันภัยพิบัติ จำนวน 14,419 ล้านบาท

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการรับประกันภัยพิบัติ ณ วันที่ 28 มีนาคม ถึง 11 กันยายน 2555 มียอดขายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ จากบริษัทประกันวินาศภัยจำนวน 46 บริษัท รวมทั้งสิ้น 165,333 กรมธรรม์ มีทุนประกันภัยพิบัติ จำนวน 14,419 ล้านบาท เป็นเบี้ยประกันภัยรับทั้งสิ้น 104 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.บ้านที่อยู่อาศัย จำนวน 154,306 กรมธรรม์ ทุนประกันภัย 9,186 ล้านบาท โดยบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยสูงสุด 2.ธุรกิจเอสเอ็มอี จำนวน 10,326 กรมธรรม์ ทุนประกันภัย 1,994 ล้านบาท โดยบริษัท ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยสูงสุด 3.อุตสาหกรรม จำนวน 701 กรมธรรม์ ทุนประกันภัย 3,239 ล้านบาท โดยบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยสูงสุด

ทั้งนี้ กองทุนฯ ได้ติดตามสถานการณ์ และดำเนินการประสานกับภาคธุรกิจประกันภัยอย่างใกล้ชิดในการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นในหลักเกณฑ์การรับประกันภัยต่อโดยมุ่งหวังผลักดันให้อัตราเบี้ยประกันปรับลดลง มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น และให้กลไกการรับประกันภัยพิบัติกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าปลายปีนี้ ยอดการขายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยของธุรกิจเอสเอ็มอี และอุตสาหกรรมจะมีการต่ออายุการทำประกันภัยในช่วงปลายปี

อย่างไรก็ตาม กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ จะให้ความคุ้มครองภัยพิบัติ 3 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหวและลมพายุ ทั้งนี้ คำจำกัดความของคำว่า “ภัยพิบัติ” ในกรณีที่ 1.คณะรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรง ตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ 2.กรณีค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ มากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ตั้งแต่ 2 ราย ขึ้นไป หรือ 3.กรณีธรณีพิบัติ ความรุนแรงของแผ่นดินไหวตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป หรือ 4.กรณีวาตภัย ความเร็วของลมพายุ ตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป

“ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ขอให้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อประโยชน์ต่อตัวท่านเอง โดยกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วม ได้แก่ กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) กรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ ประเภท 1 กรมธรรม์ประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัย ที่ได้ซื้อความคุ้มครองจากภัยธรรมชาติเพิ่มเติม”

ที่มา : แนวหน้า

NEWS & TRENDS