ไฟเขียวต่างด้าวลงทุนไทยเพิ่ม 33 ราย

รัฐไฟเขียวต่างด้าวเพิ่มอีก 33 ราย รวม 9 เดือน 251 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,761 ล้านบาท

 

รัฐไฟเขียวต่างด้าวเพิ่มอีก 33 ราย รวม 9 เดือน 251 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,761 ล้านบาท 


นายอิทธิพล ช้างหลำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 33 ราย มีเงินทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ 4,188 ล้านบาท และมีการจ้างงานคนไทยจำนวน 3,488 คน ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 3% แต่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 2,743 ล้านบาท เนื่องจากมีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการทางการเงินซึ่งเป็นธุรกิจที่มีเงินลงทุนสูง และเพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ส่วนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในไทยรวม 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วจำนวน 251 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,761 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรากฏว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 27% และเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 2,689 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ธุรกิจบริการ จำนวน 20 ราย คิดเป็น 61% ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 2,578 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่มเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน ให้เช่าพื้นที่อาคาร บริการทางบัญชี และให้คำปรึกษาแนะนำ เป็นต้น ประเทศที่เข้ามาลงทุนได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สาธารณรัฐไซปรัส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งนี้ธุรกิจสำนักงานผู้แทน จำนวน 6 ราย คิดเป็น 18% ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 22 ล้านบาท

ในส่วนของธุรกิจค้าส่งจำนวน 5 ราย คิดเป็น 15% ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 1,573 ล้านบาท ได้แก่ การค้าส่งชุดสายไฟรถยนต์ สายแบตเตอรี่รถยนต์ มิเตอร์วัดความเร็วในรถยนต์ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์ การค้าส่งอุปกรณ์ทำความร้อน แผ่นฉนวนกันไฟฟ้ารั่วหรือไฟฟ้าลัดวงจรให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ประเทศที่เข้ามาลงทุนได้แก่ ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี

ธุรกิจคู่สัญญากับภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ จำนวน 1 ราย คิดเป็น 3% ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 6 ล้านบาท ได้แก่ บริการจัดหาพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณสำหรับนับขบวนรถไฟฟ้าและเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริหารจัดการเดินรถภายใต้โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ประเทศที่เข้ามาลงทุนคือ เยอรมนี ธุรกิจนายหน้าตัวแทน จำนวน 1 ราย คิดเป็น 3% ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 9 ล้านบาท ได้แก่ การเป็นนายหน้าตัวแทนในการจัดจำหน่ายหรือจัดหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการจำหน่ายสินค้าให้แก่บริษัทในเครือ ประเทศที่เข้ามาลงทุนคือ สาธารณรัฐออสเตรีย

ที่มา : บ้านเมือง

NEWS & TRENDS