ส.อ.ท.จ่อพบ “ปู” เบรกขึ้นค่าจ้าง 300 บาท

“ส.อ.ท.” สายงานต่างจังหวัดสวดนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศที่จะมีผล 1 ม.ค. 56 ยันชี้การเมืองหาเสียงโดยใช้เงินเอกชนจ่ายไร้ความยุติธรรม เตรียมตบเท้าพบนายกฯ ยื่น 6 ข้อเสนอแก้ด่วน

 


“ส.อ.ท.” สายงานต่างจังหวัดสวดนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศที่จะมีผล 1 ม.ค. 56 ยันชี้การเมืองหาเสียงโดยใช้เงินเอกชนจ่ายไร้ความยุติธรรม เตรียมตบเท้าพบนายกฯ ยื่น 6 ข้อเสนอแก้ด่วน 

นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก รองประธานและประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับสายงานต่างจังหวัดทั่วประเทศและการประชุมประธานภาคและเลขาฯ ภาคทั้ง 5 ภาค ถึงกรณีที่รัฐบาลจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศมีผลวันที่ 1 มกราคม 2556 ทั้งหมดได้แสดงจุดยืนที่จะขอเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเร็วที่สุดก่อนที่กระทรวงแรงงานจะนำเสนอประเด็นดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะเสนอแนวทางทั้งหมด 6 ข้อที่สำคัญ ดังนี้ 

1. ให้รัฐบาลชะลอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศสำหรับ 70 จังหวัดที่เหลือ และให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้จนถึงปี 2558 เท่ากับ 7 จังหวัดนำร่อง 2. การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นผู้นำเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลาง โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม 3. ลูกจ้างที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ (หากมี) จะต้องจบการศึกษาขั้นต่ำประถมศึกษาปีที่ 4 โดยได้รับใบประกาศนียบัตรหรือเอกสารรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ 

4. ขอให้รัฐบาลยกเลิกอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบลอยตัว 5. หากรัฐยืนยันที่จะคงบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบค่าจ้างส่วนต่างตามอัตราที่จะประกาศใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2556 และ 6. ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คำนึงถึงความสำคัญและตรวจสอบอย่างเคร่งครัดในนโยบายของพรรคการเมืองที่นำนโยบายประชานิยมหาเสียงโดยกำหนดและให้สัญญา เช่น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ “ก็จะพยายามให้ทางประธาน ส.อ.ท.ประสานพบนายกรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด

ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ขอเข้าพบในระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ.ที่จะมีขึ้นที่เกาะสมุยเร็วๆ นี้ก็ได้ ซึ่งเราเห็นว่าประเด็นหนึ่งที่น่ากลัวคือพรรคการเมืองหาเสียงโดยไม่ใช้เงิน แต่ถึงเวลาผู้ประกอบการต้องจ่ายเพิ่มเช่นนี้พอไม่ปฏิบัติตามก็กลายเป็นผู้ร้ายอีกมันไม่ยุติธรรมเลย ซึ่งเรากลัวว่าต่อไปพรรคการเมืองจะเพิ่มการขึ้นค่าจ้างหาเสียงไปอีกเรื่อยๆ แล้วภาระเหล่านี้ก็ตกมาอยู่กับเรา” นายวีระยุทธกล่าว

NEWS & TRENDS