รองฯ วิษณุระบุการสืบราชสันตติวงศ์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 พร้อมอัญเชิญให้สมเด็จพระรัชทายาทขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เมื่อถึงเวลาเหมาะสม
รองฯ วิษณุระบุการสืบราชสันตติวงศ์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 พร้อมอัญเชิญให้สมเด็จพระรัชทายาทขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เมื่อถึงเวลาเหมาะสม
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559 เวลา 22.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจกรณีสืบราชสันตติวงศ์ สรุปใจความสำคัญว่า เมื่อสิ้นรัชกาล หรือราชบัลลังก์ว่างลง สิ่งที่ต้องทำตาม มามีอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องการเตรียมการเกี่ยวกับพระบรมศพ และการสืบราชสันตติวงศ์ หรือการสืบราชสมบัติ ซึ่งการสืบราชสันตติวงศ์หรือการสืบราชสมบัติ จะดูตามกฎหมาย 2 ฉบับ เป็นหลัก คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ซึ่งตราขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนของรัฐธรรมนูญเรื่อยมาตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงทุกวันนี้ ส่วนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสมบัติที่จะใช้ต่อไปนี้ เป็นกฎเกณฑ์เดียวกับที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2534 เมื่อนำเอากฎเกณฑ์ที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญไปเทียบกับกฎมณเฑียรบาลจะปรากฎรายละเอียดดังนี้
เมื่อราชบัลลังก์ว่างลง สิ่งที่ต้องดูว่าได้เคยสถาปนาพระรัชทายาทไว้หรือไม่ ถ้าไม่เคยมีการแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ก่อน จะมีพิธีปฏิบัติอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาพระรัชทายาท ไว้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2515 ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เป็นพระรัชทายาทแล้ว โดยประกอบพิธีที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งมีประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาให้สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า วชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ดำรงตำแหน่งเป็นพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล และรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้แล้วว่าเมื่อมีการสถาปนาพระรัชทายาทไว้แล้ว หากราชบัลลังก์ว่างลงให้คณะรัฐมนตรีแจ้งไปยังประธานรัฐสภาว่าได้มีการสถาปนาพระรัชทายาทไว้แล้วหรือไม่ เมื่อประธานรัฐสภาได้รับแจ้งจากคณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภาต้องเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อที่จะแจ้งให้ทราบว่าได้มีการสถาปนาพระรัฐทายาทไว้แล้วหรือไม่ และปัจจุบันคนที่ทำหน้าที่คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อมีมติรับทราบแล้ว ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติขอประทานอัญเชิญให้สมเด็จพระรัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นจะมีออกประกาศให้ประชาชนได้ทราบว่าประเทศไทยได้มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว โดยจะเรียกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่เรียกพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวจนกว่าจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า กระบวนการดำเนินการอัญเชิญให้สมเด็จพระรัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ไม่มีกรอบระยะเวลากำหนด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อคืนวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้แจ้งว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชปรารภว่า ขอทำใจร่วมกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศก่อน กิจบ้านการเมืองอะไรที่สามารถรอได้ขอให้รอไปก่อน วันนี้ทำขอให้ทำเรื่องพระบรมศพให้ลุล่วงไประดับหนึ่งก่อน และเมื่อเวลาอันเหมาะสมกับบรรยากาศ ความรู้สึกของประชาชนค่อยดำเนินการต่อ ซึ่งรัฐบาลได้รับเรื่องดังกล่าวสนองใส่เกล้าใส่กระหม่อม จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลยังไม่เสนอเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระรัชทายาทไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงยังไม่มีการขอประทานอัญเชิญให้สมเด็จพระรัชทายาทขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่เมื่อถึงเวลาอันสมควร รัฐบาลพร้อมดำเนินการต่อไป โดยไม่มีข้อลังเล สงสัย อย่างไร ว่าจะมีการปฏิบัติเป็นอย่างอื่นใด ๆ ทั้งสิ้น
