เอกชน ชี้ ลดต้นทุน - เพิ่มทักษะแรงงาน รองรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้นปีหน้า

‘รองโฆษกแรงงาน’ เผยกรอบพิจารณาอัตราค่าจ้างปี 60 คณะกรรมการค่าจ้าง ยึดแนวทางเพื่อให้แรงงานมีค่าจ้างเพียงพอ ดำรงชีพได้ตามสมควรมาตรฐานค่าครองชีพ สอดคล้องเศรษฐกิจ สังคม ความสามารถในการประกอบธุรกิจในพื้นที่ ด้านผู้ประกอบการ ออกมาตรการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มทักษะแรงงาน พัฒนาเครื่องมือใ..


 ‘รองโฆษกแรงงาน’ เผยกรอบพิจารณาอัตราค่าจ้างปี 60 คณะกรรมการค่าจ้าง ยึดแนวทางเพื่อให้แรงงานมีค่าจ้างเพียงพอ ดำรงชีพได้ตามสมควรมาตรฐานค่าครองชีพ สอดคล้องเศรษฐกิจ สังคม ความสามารถในการประกอบธุรกิจในพื้นที่ ด้านผู้ประกอบการ ออกมาตรการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มทักษะแรงงาน พัฒนาเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพ รองรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้นปีหน้า
           
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเมื่อ (19 ต.ค.59) ให้ปรับขึ้นตามที่นำเสนอไปแล้วนั้นว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแนวคิดในการพิจารณาซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้แรงงานทั่วไปที่แรกเข้าทำงาน 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความเหมาะสมและความสามารถในการดำเนินธุรกิจในท้องถิ่นด้วย ขณะเดียวกันลูกจ้างเองก็ต้องทำงานให้สอดคล้องกับทักษะฝีมือ และพัฒนาตนเองเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย
           
ขณะที่ นายอนุสรณ์ วิมลอนุพงษ์ ผู้อำนวยการส่วนบุคคลและพัฒนาระบบ บริษัท แอล แอนด์ อี แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผู้ผลิตด้านไฟฟ้าแสงสว่าง กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้มีผลทางอ้อมต่อต้นทุนในการผลิตสินค้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากสินค้าบางประเภทต้องแข่งขันกับแหล่งผลิตในต่างประเทศ สิ่งที่ทำตอนนี้คือ ลดต้นทุนในการผลิต ถึงแม้ว่าต้นทุนทางด้านแรงงานจะปรับขึ้นในต้นปีหน้า แต่สถานประกอบการได้มีมาตรการในการพัฒนาฝีมือให้แก่พนักงานกลุ่มนี้อยู่แล้ว ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ซึ่งถือว่ามีอัตราส่วนไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน พบว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยยังค่อนข้างสูง เมื่อถามว่าการปรับค่าจ้างมีความเป็นธรรมต่อลูกจ้างหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการดำรงชีวิตของพนักงานมากกว่า เนื่องจากปัจจุบันคนไทยดำรงชีวิตเกินกว่าอัตราค่าตอบแทนที่ได้รับ ส่วนใหญ่มีหนี้นอกระบบมากกว่าร้อยละ 50 ของพนักงานทั้งหมด จึงต้องบริหารจัดการในส่วนนี้ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต และการให้ความรู้เรื่องการจัดทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
        
ส่วนมาตรการที่กำหนดเพื่อรองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลในต้นปี 2560 นั้น เบื้องต้นสถานประกอบการพยายามให้พนักงานที่ประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและแสงสว่างได้มีโอกาสเข้าไปทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ หรือ License จะส่งผลให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพได้รับการรับรองจากภาครัฐ นอกจากนี้ได้พัฒนาเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย

NEWS & TRENDS