รองเลขา สช. แนะ ถอดปัญหาหลักสร้างทางแก้ร่วม ผ่านประชาธิปไตยทางตรงด้วยโมเดลสมัชชาพื้นที่ฯ ระดมทางแก้จากเจ้าของปัญหา หวังเชื่อมสมัชชาชาติฯ ให้สานแนวทางร่วม

รองเลขา สช. แนะ ถอดปัญหาหลักสร้างทางแก้ร่วม ผ่านประชาธิปไตยทางตรงด้วยโมเดลสมัชชาพื้นที่ฯ ระดมทางแก้จากเจ้าของปัญหา หวังเชื่อมสมัชชาชาติฯ ให้สานแนวทางร่วม
กระบวนการมีส่วนร่วม (participatory process) เป็นหนึ่งในเครื่องมือรับฟังความคิดเห็นตามระบบประชาธิปไตยทางตรงทีทั่วโลกต่างยอมรับ ในรัฐสมัยใหม่หากรัฐบาลจะดำเนินนโยบายใดๆ ก็ตามย่อมต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต สำหรับประเทศไทยนั้นการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในแต่ละครั้งเปรียบได้กับเป็นพื้นที่กลางในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศ ที่มีสมัชชาสุขภาพของแต่ละจังหวัดเป็นแขนขาอำนวยให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม และได้รูปธรรมเป็นวาระที่ใช้ขับเคลื่อนในแต่ละปี ซึ่งวาระที่ใช้ขับเคลื่อนนั้นเกิดจากการตกผลึกปัญหาร่วมกันของเครือข่ายสมัชชาในแต่ละพื้นที่
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ในเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ในส่วนของเวทีสมัชชาเฉพาะพื้นที่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลดงมูลเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวถึงความสำคัญกระบวนการมีส่วนร่วมการจัดสมัชชาสุขภาพของแต่ละพื้นที่ในฐานะส่วนเติมเต็มความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาระดับชาติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านกรณีตัวอย่างที่เป็นหนึ่งในวาระขับเคลื่อนในปีนี้ คือ เรื่องน้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน
ถอดปัญหาหลักสร้างทางแก้ร่วมกัน
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ย้อนถึงขั้นตอนก่อนที่จะเป็นวาระขับเคลื่อนของสมััชชาสุขภาพแห่งชาติ ว่า เกิดจาก ประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศสะท้อนปัญหาผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพในจังหวัดที่ตนสังกัด ซึ่งจากการประมวลปัญหาร่วมกัน พบว่าเรื่องน้ำดื่มเป็นปัญหาหลักที่หลายพื้นที่ประสบอยู่ต่างเพียงรูปแบบที่เผชิญ บางพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำผิวดิน บางพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำประปาหมู่บ้านไม่ได้มาตรฐาน ขณะที่ในบางพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำฝนปนเปื้อนสารเคมีจนไม่สารมารถนำมาบริโภคได้
เช่น จังหวัดเพชรบูรณ์ อย่างไรก็ตามจากการสรุปปัญหาร่วมของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พบว่าปัญหาหลักที่หลายพื้นที่เผชิญอยู่คือ เรื่องน้ำดื่มบรรจุขวดและตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้คุณภาพ ซึ่งจากการรวมรวมข้อมูลของขณะทำงานพบว่าในประเทศไทยมีตู้น้ำดื่มยอดเหรียญทั้งสิ้น 120,000 ตู้ โดยเป็นผลพวงจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติและน้ำระบบประปาหมู่บ้านไม่สามารถใช้บริโภคได้
“ตอนนี้เรื่องน้ำดื่มบรรจุขวดและระบบตู้น้ำหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐานคือประเด็นหลักที่เราเห็นว่าหลายพื้นที่เผชิญร่วมกัน แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกพื้นที่จะมีปัญหาเดียวกัน แต่เราสามารถใช้เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อต่อยอดไปยังปัญหาร่วมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันได้ ” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว
กระนั้นก็ตามคำถามประการต่อมาคือ แล้วพื้นที่จะเชื่อมร้อยประเด็นปัญหาเฉพาะจังหวัดเข้าสู่นโยบาย หรือสร้างการขับเคลื่อนในระดับประเทศได้อย่างไร ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ตอบคำถามด้วยการให้กลับไปสู่เครื่องมือที่ใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการหาปัญหาร่วมกันนั่นคือ เวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ เพราะโดยตัวมันเองเป็นทั้งเครื่องมือและสะพานเชื่อมปัญหาของแต่ละจังหวัดเข้าสู่ระดับนโยบายอยู่แล้ว
สมัชชาฯพื้นที่ เวทีร่วมระดมทางแก้จากเจ้าของปัญหา
รูปธรรมของการมีส่วนร่วมปรากฏชัดขึ้นหลังการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความเห็นต่อร่างมติสมัชชาฯ หนึ่งในข้อเสนอที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพจังหวัดเพชรบูรณ์เห็นร่วมกันว่าอาจเป็นทางออกของปัญหาน้ำดื่มปลอดภัยในพื้นที่คือ การตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มของชุมชน เป้าหมายหลักเพื่อลดรายจ่ายที่หลายครัวเรือนต้องเสียให้กับผู้ประกอบการน้ำดื่มบรรจุขวด อีกทั้งยังไม่มั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยของน้ำที่ใช้บริโภค โดยเบื้องต้นจะประสานเพื่อขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัด ให้เข้ามาตรวจคุณภาพน้ำดื่มในพื้นที่
ท้ายที่สุดความเห็นร่วมจากพื้นที่เจ้าของปัญหาทั้งแนวทางแก้ไขและข้อเสนอแนะ จะถูกส่งผ่านตัวแทนของแต่ละจังหวัดเพื่อนำเสนอต่อในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21-23 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี