ชี้แรงงานต่างด้าวเพิ่มรายได้ไทยปีละ 6 หมื่นล้าน

นักวิจัยชี้แรงงานต่างด้าวเพิ่มรายได้ให้ไทยปีละ 60,000 ล้าน ชี้แม้ไม่มีส่วนจ่ายภาษีแต่ก็สร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจไทย



นักวิจัยชี้แรงงานต่างด้าวเพิ่มรายได้ให้ไทยปีละ 60,000 ล้าน ชี้แม้ไม่มีส่วนจ่ายภาษีแต่ก็สร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจไทย

นายแพทย์ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ(IHPP) กล่าวว่า จากการศึกษาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ในปี 2550 พบว่าแรงงานต่างด้าวได้ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทย ประมาณปีละ 60,000 ล้านบาท โดยส่งผลต่อมูลค่าในภาคอุตสาหกรรมประมาณ ร้อยละ 7-10 และในภาคการเกษตรประมาณ ร้อยละ 4-5 ดังนั้น ถึงแม้ว่าแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้จะไม่ได้มีส่วนในการจ่ายภาษีหรือร่วมจ่ายเงินสมทบเข้าระบบสุขภาพ แต่ในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้ได้สร้างความเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้นก็ยังมีส่วนร่วมในการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในทุกสินค้าและบริการ

"ปัจจุบันระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้สิทธิเฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะมีสิทธิซื้อประกันสุขภาพ ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ทั้งที่เป็นผู้มีทบบาทสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ดังนั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ ว่าการพยายามนำแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพนั้น เป็นคนละเรื่องกับปัญหาสัญชาติ"
 

ด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตัวเลขจากสำมะโนประชากรและการเคหะในปี 2553 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยประมาณ 2.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 เป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก ประเทศพม่า กัมพูชา และลาว ขณะที่ตัวเลขจากนักวิจัยด้านประชากรศาสตร์ คาดการณ์ว่าแรงงานข้ามชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย น่าจะมีอยู่ในประเทศไทยกว่า 4 ล้านคน ซึ่งการอยู่ในสังคมไทยของแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ ทำให้เกิดความต้องการบริการสุขภาพตามมา ก่อให้เกิดการถกเถียงว่าจะเป็นหรือไม่ที่ประเทศไทยต้องจัดบริการสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ เพราะสถานพยาบาลหลายแห่งต้องประสบกับภาวะวิกฤตทางการเงิน เมื่อต้องจัดบริการให้กับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบสุขภาพของไทย




 

NEWS & TRENDS