ทีดีอาร์ไอแนะแนวทางแก้ปริญญาตรีเตะฝุ่นนับแสน

ทีดีอาร์ไอแนะแก้ปัญหาบัณฑิตปริญญาตรีตกงานปีละกว่าแสน ติวเข้มอาชีพช่วงปีที่ 4-ขยายสหกิจศึกษา

 


ทีดีอาร์ไอแนะแก้ปัญหาบัณฑิตปริญญาตรีตกงานปีละกว่าแสน ติวเข้มอาชีพช่วงปีที่ 4-ขยายสหกิจศึกษา 

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาบัณฑิตปริญญาตรีตกงานกว่า 1 แสนคนต่อปีว่า ระบบอุดมศึกษาไทยในปัจจุบันใช้เวลาเรียน 4 ปี ทั้งนี้ ช่วงที่เรียนชั้นปีที่ 1-2 มหาวิทยาลัยต่างๆจะต้องจัดการศึกษาโดยเน้นพัฒนาความรู้ความสามารถของนักศึกษาเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดแรงงาน เช่น ความรู้และทักษะอาชีพในสาขาวิชาที่เรียน ทักษะภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน หลังจากนั้นเมื่อเรียนชั้นปีที่ 3 จะต้องสำรวจว่าถึงความต้องการของนักศึกษาแต่ละคนแต่ละสาขาภายในมหาวิทยาลัยว่า เมื่อเรียนจบแล้วต้องการจะไปประกอบอาชีพอะไรบ้าง

รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า เมื่อได้ข้อมูลข้างต้นแล้วทางมหาวิทยาลัยก็ประสานไปยังสถานประกอบการด้านต่างๆเพื่อหาข้อมูลว่าสถานประกอบการต้องการบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะอาชีพอย่างไรบ้างแล้วเติมเต็มความรู้ในการประกอบอาชีพดังกล่าวให้แก่นักศึกษาเมื่อเข้าสู่ชั้นปีที่ 4 เพื่อจะได้มีความรู้ความสามารถรอบด้านและสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อที่เมื่อเรียนจบแล้ว จะสามารถทำงานได้ทันที สถานประกอบการไม่ต้องเสียเวลาไปฝึกงานให้เพิ่มเติม

"ผมคิดว่าการอบรมความรู้เพิ่มเติมให้แก่นักศึกษาเมื่อเรียนชั้นปีที่ 4 เช่น ทักษะด้านอาชีพ ทักษะภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการเพื่อช่วยให้นักศึกษามีโอกาสได้งานทำสูงขึ้น ไม่ตกงาน นอกจากนี้ รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ควรขยายการดำเนินโครงการสหกิจศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยใช้มาตรการจูงใจสถานประกอบการให้เข้าร่วมโครงการด้วยการลดหย่อนภาษี เพื่อให้การผลิตบัณฑิตปริญญาตรีเป็นไปอย่างสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการในด้านต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถออกมาเป็นผู้ประกอบการได้"รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

ส่วนระยะยาวนั้นรัฐบาล ศธ.และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ควรร่วมมือกับภาคธุรกิจ สถานประกอบการต่างๆปรับแผนการผลิตบัณฑิตจากปัจจุบันสัดส่วนการผลิตบัณฑิตสายศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์อยู่ที่ 70% และสายวิทยาศาสตร์อยู่ที่ 30% เปลี่ยนเป็นผลิตบัณฑิตสายศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ สายวิทยาศาสตร์ให้อยู่ที่สายละ 50% โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัยให้มากขึ้น รวมทั้งเร่งพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพและภาษาต่างประเทศและภาษาอาเซียนให้แก่บัณฑิตปริญญาตรีและแรงงานไทยในทุกสาขาด้วยเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ที่จะเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2558
 

NEWS & TRENDS