กูรูชี้ 2 ปีก่อนเปิดค้าเสรี SME กว่าครึ่งเหนื่อยแน่

จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ย. พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ 60.7% ของเอสเอ็มอีไทยทั้ง 2.9 ล้านราย ยังไม่มีการปรับตัวเพื่อรองรับเออีซี เพราะมัวแต่รอแนวทางและการช่วยเหลือจากภาครัฐ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือมีเอสเอ็มอีเพียง 7.3% เท่านั้นที่ปรับตัวเข้าสู่เออีซีแล้ว

 

จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ย. พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ 60.7% ของเอสเอ็มอีไทยทั้ง 2.9 ล้านราย ยังไม่มีการปรับตัวเพื่อรองรับเออีซี เพราะมัวแต่รอแนวทางและการช่วยเหลือจากภาครัฐ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือมีเอสเอ็มอีเพียง 7.3% เท่านั้นที่ปรับตัวเข้าสู่เออีซีแล้ว 

ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะบริหารธุรกิจและผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาธุรกิจครอบครัวและเอสเอ็มอี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้บอกเล่าถึง “ความจำเป็นของเอสเอ็มอีไทยในการก้าวสู่ตลาดอาเซียน” ว่า จริง ๆ แล้วไม่ว่าประเทศใดในโลกนี้จะมีโครงสร้างของเอสเอ็มอีที่คล้ายกัน ไม่เว้นแม้แต่ชาติอาเซียนที่มีสัดส่วนของเอสเอ็มอีจำนวนมาก ทั้งประเทศสิงคโปร์หรือมาเลเซีย ที่ดูเหมือนว่าจะมีความก้าวหน้ามากกว่าชาติอาเซียนอื่น แต่ก็มีสัดส่วนของเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 90% ของผู้ประกอบการทั้งหมด 

เช่นเดียวกับโครงสร้างเอสเอ็มอีไทย ที่มีจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 90% หรือมีจำนวนมากกว่า 90 หรือ 99% ด้วยซ้ำไป แต่ทั้ง 10 ชาติอาเซียนต้องยอมรับว่า เอสเอ็มอีสิงคโปร์ เป็นชาติที่พร้อมมากที่สุดกับการรวมตัวในครั้งนี้ ขณะที่ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีความพร้อมพอสมควร ส่วนชาติสมาชิกที่เหลือจากนี้คงจะตามมาในลำดับต่อไป 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงความได้เปรียบในการแข่งขันของชาติสมาชิกแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับความชำนาญในธุรกิจของประเทศนั้น ๆ เช่นสิงคโปร์ มาเลเซีย ที่เน้นในเรื่องของธุรกิจบริการ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจซื้อมาขายไป ย่อมได้เปรียบในเรื่องนี้แน่เพราะเป็นธุรกิจที่ช่ำชอง แต่ไทยเอง... ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร แต่เอสเอ็มอีไทยอาจต้องเตรียมตัวเพิ่มมากขึ้น คือ ต้องทำให้เป็นสากลมากขึ้น ต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมของคนอื่นมากขึ้น ต้องเข้าถึงธุรกิจข้ามชาติมากขึ้น ต้องนำข้อมูลของประเทศหรือตลาดที่จะค้าขายด้วยมาศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงตัวเอง ต้องหาข้อมูลมากขึ้น หาคนเข้ามาช่วย รวมถึงตัวผู้ประกอบการเองต้องเพิ่มในเรื่องของภาษามากขึ้นด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนหนึ่งที่เข้มแข็ง ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจมาพอสมควร หรือทำธุรกิจมานาน หากมีคนมาเติมเต็มให้ธุรกิจก็พร้อมโตได้ในตลาดต่างประเทศเช่นกัน โดยกลุ่มนี้อาจเป็นกลุ่มที่พ่อแม่เคยทำธุรกิจมาแล้วระยะหนึ่ง เมื่อลูกหลานกลับมาก็มาต่อยอดได้ โดยเฉพาะลูกหลานที่กลับมายังได้ประสบการณ์แปลกใหม่และภาษากลับมาต่อยอดธุรกิจตัวเองด้วย โดยในส่วนนี้น่าจะมีอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของเอสเอ็มอีราว 3 ล้านราย ส่วนเอสเอ็มอีที่เหลืออีก 60-70% ต้องยอมรับว่าในอีก 2 ปีจากนี้ต้องเหนื่อยแน่นอน... แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเอสเอ็มอีไทยเท่านั้น แต่ประเทศอื่น ๆ ก็เหมือนกัน เพราะทุกอย่างต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยทำธุรกิจโดยไม่มีปัญหา แต่เมื่ออีก 2 ปีข้างหน้าจะมีการเปิดเสรีมีการเปิดประเทศมากขึ้นทำให้การค้าขายง่ายขึ้นเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ก็อาจทำให้เอสเอ็มอีบางคน ’อึดอัด“ เหมือนกับการเปิดประตูบ้านให้คนอื่นเข้ามาแต่เราอึดอัดที่จะเดินออกไป

ผศ.ดร.เอกชัย ได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ธุรกิจที่น่าเป็นห่วงสำหรับเอสเอ็มอีไทย คือธุรกิจการเกษตรซึ่งมีความเข้มแข็งมาตั้งแต่ดั้งเดิม แต่ให้ความสำคัญน้อยเกินไป ทั้งที่ไทยเคยเป็นมหาอำนาจด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ยางพาราที่การแข่งขันลดน้อยถอยลงไป ทั้งที่อุตสาหกรรมการเกษตรเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำของอุตสาหกรรมหลายประเภททั้ง ยา พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น แต่ไม่ได้มีแต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงเท่านั้น เพราะการรวมตัวกันเป็นหนึ่งในครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสครั้งสำคัญของอีกหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น กลุ่มอาหาร เพราะทั้ง 10 ชาติมีวัฒนธรรมรับประทานอาหารที่ไม่แตกต่างกัน ขณะที่อาหารไทยก็มีลักษณะเฉพาะตัวที่มีรสชาติเป็นที่นิยมของเพื่อนบ้าน และมีหลายแบรนด์ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว หากปรับปรุงบรรจุภัณฑ์หรือแพ็กเกจจิ้งให้ดีทุกอย่างสามารถเดินหน้าไปได้อย่างแน่นอน
 

NEWS & TRENDS