เล็งเพิ่มวิทยาลัยอาชีวะผลิตแรงงานฝีมือป้อนตลาด

นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ) เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมหารือกับ นายถาวร ชลัษเฐียร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเชื่อว่าการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาเพื่อเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี จะทำให้นักเรียนเข้ามาเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มากขึ้น และสามารถดึงดูดให้นักศึกษาอยู่ในสายวิชาชีพได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ทิ้งทักษะวิชาชีพกลางคันเพื่อเปลี่ยนไปเรียนสายสังคมศาสตร์เช่นที่ผ่านมา นอกจากนี้จะเสนอแผนพัฒนาอาชีวศึกษาต่อรัฐบาลเพื่อขอรับการสนับสนุนจัดตั้งสถานศึกษาประเภทอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 100 แห่ง เพื่อรองรับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในชุมชนห่างไกล โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบทั่วประเทศที่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ

 


นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ) เปิดเผยว่า  ได้ร่วมประชุมหารือกับ นายถาวร ชลัษเฐียร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเชื่อว่าการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาเพื่อเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี จะทำให้นักเรียนเข้ามาเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มากขึ้น และสามารถดึงดูดให้นักศึกษาอยู่ในสายวิชาชีพได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ทิ้งทักษะวิชาชีพกลางคันเพื่อเปลี่ยนไปเรียนสายสังคมศาสตร์เช่นที่ผ่านมา 

นอกจากนี้จะเสนอแผนพัฒนาอาชีวศึกษาต่อรัฐบาลเพื่อขอรับการสนับสนุนจัดตั้งสถานศึกษาประเภทอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 100 แห่ง เพื่อรองรับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในชุมชนห่างไกล โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบทั่วประเทศที่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ 

ทั้งนี้มีแนวคิดจะทำหลักสูตรอาชีวศึกษาคู่ขนาน รูปแบบความร่วมมือทวิภาคีระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าจะเป็นรูปแบบที่สามารถพัฒนาศักยภาพของเยาวชนเหล่านี้ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างดี และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการด้วย

ขณะนี้การขาดแคลนแรงงานระดับทักษะฝีมือและระดับเทคนิคเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการจนเกิดปัญหาการแย่งตัวของคนทั้ง 2 ระดับอย่างรุนแรง หากภาคการศึกษาไม่ปรับทิศทางในการผลิตคนให้เพียงพอกับความต้องการอย่างเร่งด่วน เชื่อว่าใน 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะพบกับวิกฤติด้านแรงงานอย่างแน่นอน ขณะนี้มีข้อมูลจาก BOI จะมีเงินทะลักเข้ามากว่า 8 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเมื่อเปิดเสรีอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า ก็จะยิ่งทำให้การขาดแคลนกำลังคนเป็นปัญหารุนแรงมากขึ้น 

  ดังนั้น การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีโดยประยุกต์รูปแบบทวิภาคีของประเทศเยอรมันมาเป็นแนวทาง จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดย ส.อ.ท. ยินดีที่จะเป็นสะพานเชื่อมสถานประกอบการที่เป็นสมาชิกอยู่ทั่วประเทศจับคู่กับสถานศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อร่วมกันผลิตและพัฒนาทักษะนักศึกษาให้มีประสบการณ์ตรงในการทำงาน ทั้งระดับ ปวช. และ ปวส. โดยกำหนดแนวทางไว้ 2 ลักษณะ คือ มีการฝึกปฏิบัติงานระยะสั้น 1 ภาคการศึกษา และการฝึกงานรูปแบบทวิภาคี ที่ต้องใช้เวลาอยู่ในสถานประกอบการ 2-3 ปี โดยสถานประกอบการยินดีที่จะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้นเพื่อให้ครูเข้าไปสอนด้านทฤษฎี 1-2 วัน และทำงานจริง 3-4 วันต่อสัปดาห์ โดยนักศึกษาจะได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการเหมือนช่างฝึกหัด เมื่อจบหลักสูตรสถานประกอบการจะบรรจุเป็นพนักงานประจำทันที ซึ่งขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์แจ้งความต้องการรับนักศึกษาทวิภาคีทันทีแล้ว 2,000 คน และในปีการศึกษาหน้าจะขยายเป็น 20,000 คน

ภายหลังการหารือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ ส.อ.ท. มีความเห็นร่วมกันที่จะจัดทำเส้นทางอาชีพ “Career path” เพื่อกำหนดความก้าวหน้าของตำแหน่งงาน โดยจะมีระดับเริ่มต้นที่ผู้ช่วยช่าง ช่าง นายช่าง ช่างใหญ่ และผู้จัดการ ตามลำดับ ซึ่งหากเส้นทางอาชีพมีความชัดเจนก็จะช่วยดึงดูดเยาวชนให้เข้ามาเรียนในระบบอาชีวศึกษามากขึ้นอย่างแน่นอน

 

NEWS & TRENDS