กสทช.หารือรับมือ "ไอทียู" หวั่นกระทบ SME

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดเสวนา NBTE Public Forum ครั้ง 9 “ITU จะกำกับดูแลอินเตอร์เนต : ไทยควรมีท่าทีอย่างไร” ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 กสทช.

 

 
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดเสวนา NBTE Public Forum ครั้ง 9 “ITU จะกำกับดูแลอินเตอร์เนต : ไทยควรมีท่าทีอย่างไร” ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 กสทช.
 
ทั้งนี้ กสทช. ได้ให้ความสนใจกับการประชุม“ดับบลิวซีไอที-12” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-14 ธันวาคม 2555 ที่ นครดูไบสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นการประชุมระดับโลกว่าด้วยโทรคมนาคมระหว่างประเทศสำหรับสมาชิกสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู(ITU)
 
โดยเนื้อหาหลักของงานประชุมดังกล่าวพูดถึงการเปลี่ยนแปลง “กฎเกณฑ์”และ “วิธีเก็บค่าบริการ” ในการใช้บริการอินเตอร์เนต กล่าวง่ายๆ ก็คือ ปัจจุบันผู้ใช้อินเตอร์เนตต้องจ่ายค่าบริการในรูปของแพ็กเกจอินเตอร์เนต หรือแบบเหมาจากรายเดือน แต่ที่ประชุมจะมีการเสนอแบบใหม่เมื่อผู้ใช้คลิกเข้าอินเตอร์เนตทุกครั้งผู้ใช้ต้องจ่ายสตางค์เสมือนหนึ่งการใช้บริการโทรศัพท์ปัจจุบันที่คิดตามจำนวนครั้งที่โทร.
 
น.ส.ดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเตอร์เนตโซไซตี้ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Internet Society Asia-PacificRegional Bureau) กล่าวว่า ข้อเสนอในสนธิสัญญาที่สมาชิกไอทียูทั่วโลกเสนอให้ปรับแก้ 15 ข้อ มีผลกระทบที่ต้องจับตา 6 ข้อสำคัญ คือ
 
1.การกำหนดให้ผู้ใช้บริการอินเตอร์เนตจ่ายตามแบบ “เปย์ เปอร์ คลิก” หรือจ่ายตามจำนวนที่คลิก จากปัจจุบันจ่ายเป็นแบบค่าแพ็กเกจอินเตอร์เนต 2.กำหนดให้ผู้ให้บริการสารสนเทศจะต้องจ่ายผลตอบแทนให้กับเจ้าของเครือข่ายหรือเนตเวิร์กโอเปอเรเตอร์ (SenderPay Model) ซึ่งข้อนี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนการให้บริการต่างๆบนอินเตอร์เนต รวมถึงธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ
 
3.กำหนดให้มีการเปิดเผยประวัติการใช้งานของผู้ใช้บริการอินเตอร์เนตที่จะรวมถึงกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป และผู้ประกอบการ 4.กำหนดให้มีนิยามสแปมและขยายขอบเขตของไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ให้รวมถึงสารสนเทศ 5.กำหนดให้อินเตอร์เนตอยู่ภายใต้สนธิสัญญาใหม่ เช่น การกำหนดนิยามไอซีที และคุณภาพของบริการ (ควอลิตี้ออฟ เซอร์วิส) และ 6.กำหนดให้สนธิสัญญาใหม่เป็นเชิงบังคับจากเดิมที่เป็นลักษณะสมัครใช้
 
“แนวคิดเปย์ เปอร์ คลิก เป็นเรื่องที่มีหลายประเทศเสนอ โดยเฉพาะประเทศใหญ่เช่น จีน และรัสเซีย ที่ต้องการจะควบคุมอินเตอร์เนต แต่สถานะตอนนี้คือยังไม่มีร่างกฎเกณฑ์สุดท้ายของไอทียู มีแต่ข้อเสนอแก้ไข 15 ข้อ และจะให้ทุกประเทศเข้าโหวตในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ที่ดูไบ ซึ่งแม้ว่าไทยจะแสดงทีท่าจะอยู่ตรงกลาง ไม่สนับสนุนใครเป็นพิเศษ แต่สุดท้ายแล้วไทยจำเป็นที่จะต้องโหวต ดังนั้นช่วงเวลาตอนนี้จึงต้องหาท่าทีที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงในข้อไหนอย่างไร” น.ส.ดวงทิพย์ กล่าว
 
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกสทช. กล่าวว่า บทบาทของ กสทช.ในขณะนี้ทำได้เพียงเสนอแนะข้อมูล เนื่องจากขอบเขตการกำกับดูแลยังไม่ครอบคลุมถึงการกำกับดูแลอินเตอร์เนต ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว กสทช.ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล แต่ในทางปฏิบัติอาจทำได้เพียงทำงานร่วมกับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ให้ใกล้ชิดมากขึ้นเท่านั้น ส่วนจะมีบทบาทที่มากกว่านี้ในอนาคตอาจต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อให้ กสทช.มีอำนาจที่ครอบคลุมมากขึ้น
 
ขณะที่ อาจารย์กาญจนา กาญจนสุตอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่าโลกอินเตอร์เนต เมื่อกว่า 20 ปี ก่อนดูแลด้วยกลไกโครงสร้างของเทคโนโลยีเป็นหลักแต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนอินเตอร์เนตปัจจุบันกลายเป็นโครงสร้างที่รัฐ หรือองค์กร เช่น ไอทียู พยายามจะเข้ามามีบทบาทดูแลมากขึ้น และเป็นเรื่องที่ไทยจำเป็นต้องหาจุดยืน
 
นายอาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศสำนักปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า ในส่วนของ กระทรวงไอซีที ถ้ามีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายแล้ว ผู้ประกอบการไทยไม่ยอมรับทางกระทรวงก็คงไม่ยอมรับหลักเกณฑ์ของไอทียู ซึ่งความจริงไทยเราก็มีกฎหมายด้านไอซีทีกำกับดูแลอยู่แล้ว รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยบนอินเตอร์เนตด้วย
 
“ถ้าเรารับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายแล้วเห็นว่ารับไม่ได้ ไอซีที ก็คงยอมรับไม่ได้เหมือนกันเพราะเราไม่ใช่นักธุรกิจ ซึ่งตอนนี้ไอซีทีก็มีกฎหมายดูอยู่ รวมถึงเรื่องของซีเคียวริตี้ด้วย” นายอาจิน กล่าว
 
 

NEWS & TRENDS