เสริมทักษะคนรุ่นใหม่ด้านออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์รองรับอุตสาหกรรม 4.0

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ผลงานจับมือสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เสริมทักษะคนรุ่นใหม่ด้านการออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์นับพันคน รองรับอุตสาหกรรม 4.0


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ผลงานจับมือสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เสริมทักษะคนรุ่นใหม่ด้านการออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์นับพันคน รองรับอุตสาหกรรม 4.0

กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประกาศความสำเร็จกิจกรรมการพัฒนาออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา (Fashion Smart Start Up 2016 : Creative Designers Creation) ภายใต้โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ SMEs สู่ตลาดโลก (Global Reach) ที่ได้จับมือกับสถาบันการศึกษา ร่วมพัฒนาทักษะและความรู้ด้านอุตสาหกรรมการออกแบบให้แก่นักศึกษาทั่วประเทศ รองรับการเติบโตของประเทศในยุคอุตสาหกรรม 4.0
 
นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “งานแสดงผลงานกิจกรรมการพัฒนาออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา (Fashion Smart Start Up 2016) เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ SMEs สู่ตลาดโลก (Global Reach)  ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โดยการพัฒนาทักษะและความรู้แก่บุคลากรในอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการออกแบบและศูนย์กลางการค้าเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นเมืองแฟชั่นในระดับสากล  ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดทิศทางในการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ที่ต้องตอบโจทย์สินค้าแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง มีการแข่งขันสูงและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ด้วยการพัฒนาบุคลากรที่ทันโลก มีทักษะ มีความรู้แบบสหวิทยาการที่มีความสามารถทั้งการออกแบบและการจัดการ ซึ่งจะช่วยให้ตอบโจทย์เทรนด์อุตสาหกรรมการออกแบบในอนาคต”
 

 
กิจกรรมการพัฒนานักออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา (Fashion Smart Start Up 2016: Creative Designers Creation) ถือได้ว่าประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ในการร่วมสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมสำหรับการก้าวสู่อุตสาหกรรมการออกแบบอย่างเต็มตัว พร้อมทั้งได้สอดแทรกแนวคิดเรื่อง “ทุนทางวัฒนธรรม” โดยการส่งเสริมให้นักออกแบบรุ่นใหม่นำคุณค่าของท้องถิ่น ที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น สามารถแข่งขันในตลาดสากล  ซึ่งภายในโครงการแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม คือ กิจกรรม Pacific Rim ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย ญี่ปุ่น และ อเมริกา โดยคัดเลือกนักศึกษาที่มีศักยภาพจากทั่วประเทศ 52 คน เข้าค่ายอบรมในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับตัวแทนจากญี่ปุ่น และอเมริกา โดยได้คัดเลือกผู้ร่วมโครงการที่มีผลงานโดดเด่นจำนวน 5 คน ไปแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบและศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น  เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
 
 
        กิจกรรมที่สองคือ การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจัดอบรมความรู้ให้นักศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 1,049 คน ให้มีองค์ความรู้ จากการใช้แนวคิดใหม่ในการออกแบบอย่างรอบด้าน ทั้งการสร้างแบรนด์ การศึกษาแนวโน้มเทรนด์ ความเป็นไปได้ทางการตลาด และราคาที่แข่งขันได้ ให้นำเสนอแนวคิดในรูปแบบบอร์ดแสดงผลงาน (มูดบอร์ด- Mood Board) พร้อมคัดเลือก 50 ผลงานเพื่อศึกษาดูงานในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ก่อนเข้าสู่รอบตัดสิน ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 150,000 บาท โดยแบ่งเป็น รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล เป็นจำนวน 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 30,000 บาท และรางวัลชมเชยจำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 15,000 บาท รวมทั้งหมด 5 รางวัล โดยรายชื่อนักศึกษาผู้เข้ารอบ 5 คนสุดท้าย ประกอบไปด้วย

1. รางวัลชนะเลิศ ได้แก่  นายปรวรรธน์ สวัสดีปิติ คณะวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาการออกแบบ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. รางวัลรองชนะเลิศ รางวัลที่ 1 ได้แก่ นางสาวเชษฐสุดา  ตาลงามผล คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
3. รางวัลรองชนะเลิศ รางวัลที่ 2 ได้แก่ นายสุรพงษ์ เทียกนา  คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ  สาขาวิชาออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
4. รางวัลชมเชย รางวัลที่ 1 ได้แก่นายจุฑา บุญรอด คณะศิลปกรรมศาสตร์  สาขาวิชาการออกแบบเครื่องแต่งกาย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
5. รางวัลชมเชย รางวัลที่ 2 ได้แก่ นายอรรถวิโรจน์  ทองทิพย์ คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ  สาขาวิชาออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ภายในงาน ได้มีการจัดแสดงมูดบอร์ดผลงานจากนักศึกษาทั่วประเทศที่ผ่านเข้ารอบ 50 คนสุดท้าย และกิจกรรมการแสดงแฟชั่นโชว์จากนักออกแบบรุ่นใหม่ในกิจกรรม Pacific Rim และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจแนวคิดและผลงาน ต่าง ๆ ของนักศึกษาสามารถเจรจาต่อยอดเชิงธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ     “นักออกแบบกับแนวทางการต่อยอดในอุตสาหกรรมแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์” เพื่อสร้างองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจต่อนักออกแบบ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (ที่ปรึกษาโครงการ)                โทร. ‪0 2713 5492-9 ‬ต่อ 721, 700 และ ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/CreativeF2S/

NEWS & TRENDS